เศรษฐกิจภาษาคน โดยคุณสุ : โรคมา ปัญญาเกิด ถ้าเตลิด จะเกิดปัญหา : วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

โรคมา ปัญญาเกิด ถ้าเตลิด จะเกิดปัญหา

 

เมื่อผู้เขียนได้รับข้อความเป็นข้อมูลจากทีมงานของสำนักงาน ที่ต้องทำหน้าที่เฝ้าระวังในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ต่าง ๆ อันเป็นมาตรการพื้นฐานของการประเมินเพื่อกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการวางแผนการทำงานของพนักงานในองค์กร เพราะในเวลานี้เราอยู่ในช่วง “อยู่และใช้ชีวิตกับโควิด-19″ หรือที่เรียกว่า Stay with Covid-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจ การดำเนินกิจการ การทำมาหากิน กับการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เป็นภาระกับใครต่อใคร ในการวางแผนนั้นมันมีเรื่องหนึ่งคือ ถ้าเกิดใครมีการติดเชื้อ Omicron ขึ้นมาจะต้องทำตัวอย่างไร จากข้อมูลที่ท่านเลขาธิการแพทยสภา (พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ) ได้ให้คำแนะนำเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก และผู้เขียนใคร่นำมาขยายผลต่อ ทีมงานของผู้เขียนได้หาข้อมูลมานำเสนอต่อท่านผู้อ่านความบางตอนดังนี้

 

เหตุเพราะตัวเลขการระบาดของ โอมิครอน ในเวลานี้มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างก้าวกระโดด (ตัวเลขล่าสุดเพิ่มเป็นระดับเกินหมื่นคนต่อวันแล้ว) และในหมู่คนใกล้ตัวก็เริ่มรู้สึกได้ว่ามีการติดเชื้อมากขึ้น ประกอบกับส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และ แน่นอนว่ามาตรการแรก ๆ ที่แนะนำคือให้แยกตัวอยู่กับบ้าน หรือคอนโดมิเนียม (ที่มีระบบการบริหารจัดการรองรับ) เพื่อรักษาตัวตามมาตรฐานสาธารณสุข นั่นคือเข้าสู่ระบบ Home Isolation..

คำแนะนำของผม (หมายถึงท่านเลขาธิการแพทยสภา) คือ โปรดเตรียม Home Isolation บ้านตนเองได้แล้วครับ ถ้ามีห้องที่ทำได้ เตรียมไว้ยามสมาชิกในครอบครัว เกิดติดเชื้อ จะได้ไม่ต้องตกใจ (ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าต้องมีสติ ไม่ตกใจ เตรียมการให้ดีแล้วมันจะแก้ปัญหาได้)

 

เริ่มด้วย เตรียมห้องติดเชื้อ แยกห้องน้ำ ของคนที่ติดเชื้อวางระบบการฆ่าเชื้ออย่างเป็นขั้นตอน ล้างมือ ใส่หน้ากากอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญมากคือแยก คนสูงวัยให้อยู่คนละห้องอย่างเด็ดขาด วางแผนเรื่องอาหาร แต่ละมื้อจะส่งบำรุงกันอย่างไร เบอร์ติดต่อโรงพยาบาล และเบอร์สั่งอาหาร Delivery ให้พร้อม ทำให้ครบ 10 วัน ผู้คนในครอบครัวจะปลอดภัย นอนบ้านอุ่นใจ กว่าไปโรงพยาบาล (ทำบ้านให้ปลอดภัยได้ครับ โปรดอย่าเสียสติจนเสียขวัญ)

 

เงื่อนไขนี้ คำแนะนำนี้ จะทำได้เฉพาะบ้านที่มีห้องแยก กรณีบ้านทั่วไปที่อยู่รวมกันแทบจะใช้ไม่ได้เลย จำเป็นต้องแจ้ง 1330 ขอเข้า Community Isolation เพราะบ้านไม่สามารถทำได้นะครับ อันนี้ผู้เขียนขอเตือนนะครับว่าต้องประเมินเรื่องนี้อย่างเข้มงวด ต้องไม่ประมาท รายละเอียดของกรมการแพทย์ด้านล่างนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านมาก ข้อมูลมีดังนี้

 

Home Isolation เป็นแนวทางหลักในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 (วันที่ 4 มกราคม 2565) ผู้ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นในบ้านตามคำแนะนำ ดังนี้

 

1) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ การวินิจฉัย และ แพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้

2) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ step down หลังเข้ารับการรักษาที่สถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล อย่างน้อย 7 วัน และจำหน่ายกลับบ้าน โดยวิธี Home Isolation

 

คุณลักษณะบ้านพักที่เหมาะสม บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่ต้องแยกตัว ควรจะต้องมีลักษณะ ดังนี้

1. ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องอาศัยในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว ไม่ให้ออกจากที่พัก (ย้ำว่าต้องไม่ออกจากห้องเลยนะครับ)

2. มีห้องนอนส่วนตัว ถ้าไม่มี ควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นกรณีมีผู้อยู่ร่วมบ้าน และต้องเปิด ประตูหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี

3. มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้ ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง (ตรงนี้คนในครอบครัวต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมการ)

4. ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัย และการแยกจากผู้ป่วยได้ (เพราะมันจะมีระบบ ระเบียบ วิธีการมากพอควร)

5. สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก หากบ้านหรือที่พักไม่เหมาะสม อาจต้องหาสถานที่แห่งอื่นในการแยกตัว (อันนี้คือแผนสองถ้าบ้านเอาไม่อยู่)

 

ข้อปฏิบัติผู้ป่วยระหว่างแยกตัว

1) ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัวและงดการออกจากบ้านในระหว่างแยกตัว (เน้นใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อการติดต่อแบบ non face to face)

2) อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ หากยังมีอาการไอจามต้องสวมหน้ากากอนามัยแม้ขณะที่อยู่ในห้อง ส่วนตัว โดยแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ให้ใช้หน้ากากผ้า

3) หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือประมาณ หนึ่งช่วงแขน หากไอจามไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร และให้หันหน้าไปยังทิศทาง ตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย

4) หากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือมาปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก เนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อน หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปาก และจมูก

5) ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ (หากมือเปรอะเปื้อนให้ล้างด้วยสบู่ และน้ำ) โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะหรือ อุจจาระ และ ก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับตู้เย็น ฯลฯ

6) กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร

7) ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ

8) การทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิว ควรทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อน เสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์) โดยใช้ 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน หรือ 0.5% (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน)

9) แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์

10) ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ควรให้ผู้อื่นจัดหาอาหารมาให้ แล้วแยกรับประทานคนเดียว ถ้าเป็น อาหารที่สั่งมา และต้องเป็นผู้รับอาหารนั้น ควรให้ผู้ส่งอาหารวางอาหารไว้ ณ จุดที่สะดวก แล้วไปนำอาหาร เข้าบ้าน ไม่รับอาหารโดยตรงจากผู้ส่งอาหาร

11) ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติหากใช้เครื่องซักผ้าให้ใช้ ผงซักฟอก และ น้ำยาปรับผ้านุ่มได้

12) การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งให้ใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิท ก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือ ด้วยแอลกอฮอล์ หรือ น้ำ และสบู่ ทันที

มาตรการและวิธีการดังกล่าวข้างต้นคือทางรอดของคนที่ติดเชื้อ Omicron และต้องอยู่กับตัวเองใน 10 วันครับ สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิด จะเกิดปัญหา อาจกล่าวได้ว่า ยามนั้น ตนจะเป็นที่พึ่งแห่งตนโดยแท้ ข้อมูลนี้คือทางเดินของแผนฉุกเฉินยามที่โรคระบาดมาเยือนจนถึงหน้าบ้านของเรา ๆ ท่าน ๆ ครับ เป็นข้อแนะนำของท่านอาจารย์หมออิทธพรที่ทุกท่านควรเรียนรู้เอาไว้ในยามนี้ครับ

 

ในส่วนของการทำงานที่สำนักงานบ้าง ผู้เขียนใคร่ขอเรียนข้อมูลว่า ภายใต้การอยู่กับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นระยะสุดท้ายก่อนหมดโรคระบาด กลายเป็นโรคประจำถิ่นตามที่เราวาดหวัง แนวปฏิบัติการทำงานจากที่บ้านผสมผสานกับการทำงานที่สำนักงาน เราจะทำกันประมาณนี้ครับ

มาตรการการเข้ามาทำงานจะเป็นแบบ 2 อาทิตย์วางแผนและกำหนดกันครั้งหนึ่ง แบ่งเป็นช่วง ๆ เพื่อความยืดหยุ่น

 

1. ให้คงการทำงานที่สำนักงานของระดับหัวหน้างานเพื่อขวัญ?และกำลังใจของทีมงาน ดังที่พูดกันว่า ยามรบแม่ทัพต้องอยู่แนวหน้า ไม่ใช่เอาแต่สั่งในที่ตั้ง

2. ให้พนักงานระดับ key man ที่เป็นมือไม้ของหัวหน้างานเริ่มเข้าทำงานที่ออฟฟิศได้ โดยหัวหน้างานเป็นคนพิจารณา อาจแบ่งเป็นทีม A ทีม B ก็ได้ โดยเริ่มที่ 50% ของทีมงานที่มีอยู่

3. ระดับปฏิบัติการที่ไม่อาจเลี่ยงได้ และต้องเข้ามาทำงานในสำนักงานต้องจัดเตรียม

3.1 จัดอาหารกลางวันให้ โดยไม่ต้องออกไปตอนพักกลางวัน โดยใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารมาทาน

3.2 เวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการรักษาความสะอาด

3.3 วางแผนฉุกเฉินถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมา

3.4 เน้นการดูแลแม่บ้าน คนทำความสะอาด

3.5 เร่งฉีดวัคซีนให้ครบอย่างน้อย 3 เข็ม

3.6 ทำความสะอาดห้องน้ำให้ถี่มากขึ้น

3.7 เน้นประชุมออนไลน์ 100%

3.8 มีรอบการตรวจด้วย ATK ในแต่ละสัปดาห์

3.9 เน้นการระวังตัวตอนเดินทางไปและกลับหากใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

3.10 หัวหน้างานพูดคุย อย่างใกล้ชิด

 

หากท่านผู้อ่านจะได้ลองนำไปคิด นำไปใช้ก็ได้นะครับ เรายังต้องอยู่กับโรคระบาดโควิด-19 นี้อีกยาวนานครับ เป็นปีครับ มันเป็นการวิ่งมาราธอนครับ โรคมา ปัญญาเกิด ถ้าเตลิด จะเกิดปัญหา

 

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม