คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ทำไมเราต้องตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง และตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้าง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 4 พฤศจิกายน 2565

ทำไมเราต้องตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง และตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้าง

บทความนี้ ผมอยากจะเหตุผลที่เราต้องไปตรวจข้อมูลเครดิตของตัวเราเองอย่างสม่ำเสมอ เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง  และขออัปเดตช่องทางตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหนนะครับ

คำถาม : ทำไมเราต้องตรวจเครดิตบูโรของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และมีผลต่อการยื่นขอกู้หรือไม่

คำตอบ : การยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด โดยเหตุผลดี ๆ ที่ควรตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีดังนี้ครับ  1) ช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน  เช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่  2) การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ  3) เช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่  4) ข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้ 5) เช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่ 6) เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่ 

คำถาม : จะไปตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้างในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

คำตอบ : ที่ผ่านมา เครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง  ดังนี้

1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แบบรอรับรายงานได้ภายใน 15 นาที ใช้บัตรประชาชนของตนเอง ได้ที่ อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (ใกล้ MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัลพระราม 9) หรือเครดิตบูโร คาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 หรือเครดิตบูโร ศาลาแดง (ภายในสถานี)  หรือ Bureau Lab (บูโรแล็บ) BTS หมอชิต (ภายในสถานี) หรือท่าวังหลัง (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือ และใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช) และห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3  

 2) โมบายแอปพลิเคชัน (แอป) เลือกรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล แบบรับรายงานได้ทันที ผ่านแอป “KKP Mobile” (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) หรือเลือกแบบรับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านแอป “Krungthai NEXT” (ธนาคารกรุงไทย) แอป “MyMo” (ธนาคารออมสิน) หรือเลือกรับรายงานภายใน 3 วันทำการ ผ่านแอป “ttb touch” (ธนาคารทีทีบี)

3) แบบส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร  (ทุกสาขา)  กรุงไทย กรุงศรี ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ ธ.ก.ส. หรือใช้บัตร ATM กรุงไทย ไทยพาณิชย์ หรือผ่านธนาคารออนไลน์ กรุงไทย กรุงศรี หรือเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ 

 4) ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รับรายงานทางอีเมล ได้ทันที Bureau Lab (บูโรแล็บ) สถานีรถไฟฟ้า BTS  หมอชิต (ภายในสถานี) ท่าเรือวังหลัง  หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) (ด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี หรือนาฬิกาหน้าปัดหมายเลข ๙) และชั้น 4 ศูนย์การค้า ดิ อเวนิว รัชโยธิน กรุงเทพฯ

5) ตรวจข้อมูลเครดิตแบบสรุป (ฟรี) ผ่านแอป ”ทางรัฐ” หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หรือตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ทุกแห่ง  และเคาน์เตอร์บริการที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ

 ทั้งนี้ เครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น