คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : คำถามยอดฮิตกับเครดิตบูโร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 19 มีนาคม 2564

คำถามยอดฮิตกับเครดิตบูโร

ในช่วงที่ผ่านมา มีข้อสอบถาม ข้อสงสัย ข้อข้องใจ ผ่านสื่อออนไลน์ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับเครดิตบูโร ผมพบว่าคำถามที่คาใจมากที่สุดคือ “ทำไมฉันถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ ด้วยเหตุผลที่ธนาคารบอกว่า ติดเครดิตบูโร ทั้ง ๆ ที่ฉันก็จัดการเคลียร์รายการที่ฉันเคยค้างชำระในอดีตไปแล้ว และปัจจุบันฉันก็ไม่ได้มีปัญหาแบบนั้นอีกแล้ว” ผมเห็นว่าเพื่อให้ชัดเจนและใคร ๆ สามารถนำไปพูดอธิบายต่อไปได้ จึงได้ทำเป็นคำตอบดังนี้นะครับ

1. ธนาคารนั้นสามารถปฏิเสธไม่ให้สินเชื่อกับคนที่มาขอได้ หากธนาคารพิจารณาแล้วว่าคนที่มาขอมีเรื่องอะไรก็ตามที่ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ เช่น กำหนดว่าคนขอสินเชื่อต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน หากเอกสารหลักฐานคนขอยื่นไปบอกว่า 17,000 บาทต่อเดือน แต่ธนาคารไปตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเงินค่าล่วงเวลาหรือค่าโอที จำนวน 4,000 บาทและธนาคารไม่นับให้เป็นรายได้เพราะไม่แน่นอนว่าจะได้ทุกเดือนก็เท่ากับว่าคนที่ยื่นขอสินเชื่อมีรายได้เพียง 13,000 บาทต่อเดือน ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะอนุมัติสินเชื่อได้ เรื่องของเรื่องคือคำว่า “รายได้” ระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันและก็ไม่ถามกัน ไม่บอกกันคิดว่าอีกฝ่ายเข้าใจ เมื่อไม่อนุมัติแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่ได้ประโยชน์ก็เลยไม่อยากคุยกันต่อ สุดท้ายคือไม่พอใจ โกรธ เคียดแค้น ชิงชังกัน และก็ไปเล่าต่อความไม่พอใจในมุมของตนให้กับใครต่อใครจนกลายเป็นความเข้าใจผิด

หากได้ถามกันให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าอะไรคืออะไรแล้วเรื่องแย่ ๆ แบบนี้ก็จะไม่เกิด ท่านที่ยื่นขอสินเชื่อถามได้นะครับเรื่องหลักเกณฑ์การอนุมัติ ท่านที่พิจารณาก็ขอให้รอบคอบและระมัดระวัง ประเภทดึงเข้ามาก่อนได้-ไม่ได้เดี๋ยวค่อยไปหาทางเอา จวนตัวก็ผลักไปหาแพะหรือใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา ผมรับรองได้ว่าไม่ช้าไม่นาน คนที่ทำเรื่องแย่ ๆ แบบนี้ได้หางานใหม่แน่ ๆ เพราะสถาบันการเงินเขาไม่ส่งเสริมคนที่ทำแบบนี้

2. ธนาคารหรือสถาบันการเงิน หากปฏิเสธแล้วอ้างว่าเป็นเรื่องของเครดิตบูโรแล้ว จะต้องออกเป็นหนังสือที่เรียกว่า “หนังสือแจ้งเหตุผลการปฏิเสธสินเชื่อ” จะบอกโดยวาจา โดย SMS ไม่ได้ หากใคร หรือธนาคารใดทำแล้วอาจถูกลงโทษปรับจนกว่าจะออกเป็นหนังสือ ปัจจุบันคนที่ไปขอสินเชื่อ เมื่อถูกปฏิเสธก็มักจะแค่ไม่พอใจ บ่น โวยวาย หรือเงียบ ต่อไปหากสิทธิของเขาได้รับรู้กันไปมาก ๆ รวมทั้งหากมีมาแจ้งที่เครดิตบูโรแล้ว รับรองว่าจะติดตามให้อย่างใกล้ชิดครับ

3. ท่านที่ไปขอกู้ หากว่าในอดีตเคยค้างชำระแล้วต่อมาได้ติดต่อชำระหนี้ที่ค้างจนครบแล้ว ปัจจุบันไม่มีการค้างและบัญชีเป็นปกติ ท่านต้องสำรวจตรวจสอบว่า

ประเด็นที่หนึ่ง ที่ค้างชำระในอดีตนั้นค้างติดต่อกันกี่เดือน 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือนหรือมากว่า 3 เดือน เพราะหากเคยค้างติดกันเกิน 3 เดือนหรือค้างเกิน 90 วันแล้วถือว่าครั้งหนึ่งท่านได้เป็นหนี้เสียหรือท่านได้เคยเป็น NPL มาแล้ว อันนี้ค่อนข้างจะเป็นปัญหา เพราะการเป็นคนเคยค้างชำระนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมจึงมีการค้างชำระ เพราะอะไร แล้วจะมีอะไรให้คนที่กำลังจะพิจารณาปัจจุบันเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะไม่กลับมาเกิดกับธนาคารเขาในอนาคตหากเขาอนุมัติเงินกู้ให้

ประเด็นที่สอง คือนับจากวันที่ได้ชำระหนี้สินที่ค้างนั้นจนกลับมาเป็นปกติแล้วเทียบกับเวลาในปัจจุบันแล้วเป็นระยะเวลานานหรือยัง 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 18 เดือนหรือ 24 เดือน สิ่งนี้จะบ่งบอกว่าที่เคยพลาดนั้นเป็นเหตุที่ไม่ได้มาจากนิสัยใจคอแต่เป็นเรื่องจำเป็น เช่น วิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อุบัติเหตุเจอภัยไฟไหม้ หมุนไม่ทันจริง ๆ ไม่ได้มีเจตนาจะเบี้ยว และในช่วงเวลาที่เกิดการค้างชำระหนี้กับปัจจุบันก็จ่ายครบจ่ายตรงมาโดยตลอด หากธนาคารมีเกณฑ์ว่าในขณะปัจจุบันที่พิจารณาย้อนหลังลงไป 12 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้คนที่มาขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติว่าค้างชำระหนี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เคยค้างเมื่อพฤศจิกายน 2562 ต่อมาชำระในเดือนธันวาคม 2562 และนับจากนั้นจนถึง มกราคม 2564 เป็นเวลา 14 เดือน จ่ายหนี้ตรงมาตลอด หากเป็นแบบนี้ ลูกค้าท่านนี้ท่านก็ผ่านเกณฑ์ข้อนี้แม้ว่าจะเป็นคนเคยค้างชำระหนี้

นั่นเป็นเพราะลูกค้าสะสมประวัติที่ชำระตรงยาวนานตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 มาจนถึงวันที่ถูกพิจารณาคือ มกราคม 2564 จึงเชื่อว่าคน ๆ นี้ไม่มีลักษณะที่ผิดนัดชำระหนี้บ่อย ผิดนัดชำระหนี้นานเป็นประจำ เรื่องแบบนี้เราหากเป็นคนไปขอกู้ควรจะขอความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อน ผมยืนยันว่าถามได้ไม่ใช่เรื่องอะไรที่สอบถามกันไม่ได้

มาถึงตรงนี้ หากท่านเป็นผมแล้วมีท่านหนึ่งถามเข้ามาว่า “ตอนนี้ ปัจจุบันนี้ ผมยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ 50,000 บาท ยังไม่ได้จ่ายและค้างชำระหนี้มาตั้งนานแล้วเกือบปีหรือ 12 เดือนที่ผ่านมาไม่จ่าย มีเจ้าหน้าที่ธนาคารมาติดต่อผมว่า หากผมเอาเงินไปจ่ายธนาคารเก่าที่ค้างอยู่ทั้งหมดในเดือนนี้เลย 50,000 บาทกับดอกเบี้ยต่าง ๆ แล้ว ผมจะขอกู้เงินกับธนาคารใหม่ได้ในวงเงินใหม่ 500,000 บาท ผมจะกู้ได้ไหมครับช่วยตอบหน่อย”

หากท่านเป็นผม หากท่านเป็นคนฝากเงินธนาคารที่กำลังให้กู้ใหม่ หากท่านเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารที่กำลังพิจารณา หรือท่านเป็นชายคนที่กำลังวางแผนจ่าย 50,000 บาทแล้วรับใหม่ 500,000บาท หรือท่านเป็นท่านนี่แหละในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านครับ ท่านว่าชายไทยผู้ถามท่านนี้สมควรจะได้เงินกู้ไหม หากสมมติว่าท่านผู้อ่านเป็นคนมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อแต่เพียงผู้เดียว