คำถามที่คนขอสินเชื่ออยากรู้..เมื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือแจ้งไม่อนุมัติให้กู้
จากบทความที่ผ่านมาล้วนเป็นการตอบคำถามในใจของใครๆ หลายๆ คนว่า เครดิตบูโรคืออะไร เครดิตบูโรเก็บข้อมูลอะไร ทำไมต้องเก็บ เครดิตบูโรมีประโยชน์อย่างไร หรือที่ต้องตอบคำถามมากที่สุดคือ จริงหรือว่ามีเครดิตบูโรแล้วทำให้คนกู้ไม่ได้ “ท้ายที่สุดคืออยากรู้เหตุผลที่ชัดเจนเมื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือแจ้งไม่อนุมัติการให้กู้” เพราะการกล่าวอ้างว่า ติดเครดิตบูโร ติดบัญชีดำ ติดแบล็คลิสต์ บางรายเอาตัวรอดแบบดื้อๆ ว่า ไม่รู้เหตุผลให้ไปถามเครดิตบูโรเอาเอง เป็นต้น ผมขอเสนอรายละเอียดดังนี้ครับ
คำถาม : สถาบันการเงินผู้พิจารณาสินเชื่อมีสิทธิที่จะไม่ให้กู้ได้หรือไม่
คำตอบ : ได้ครับ สถาบันการเงินผู้พิจารณาสินเชื่อมีสิทธิที่จะไม่ให้กู้ หากผู้มายื่นคำขอนั้นมีคุณสมบัติไม่ตรงกับเกณฑ์การพิจารณา เช่น มีรายได้ไม่เพียงพอหรือพิจารณาจากข้อมูลใบสมัครและเอกสารประกอบแล้วเชื่อว่า มีความสามารถไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ที่กำลังขอกู้นี้ได้ จุดนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเพราะสถาบันการเงินที่พิจารณาต้องรับผิดชอบกับเงินฝากที่มีผู้ฝาก หากนำเงินฝากไปปล่อยกู้อย่างหละหลวมแล้วจ่ายคืนเงินฝากไม่ได้เมื่อเวลาที่คนมาถอนเงิน…ลองคิดดูว่าจะวิบัติกับระบบการเงินขนาดไหน
คำถาม : คนที่ไปขอกู้มีสิทธิที่จะได้ทราบเหตุผลที่แท้จริงหรือไม่ว่า “เพราะอะไรจึงไม่อนุมัติเงินกู้ที่ยื่นขอ”
คำตอบ : มีสิทธิครับ และหากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาดูข้อมูลเครดิตหรือข้อมูลเครดิตบูโรของคนที่มาสมัครสินเชื่อแล้ว สถาบันการเงินที่ปฎิเสธนั้น ต้องออกเป็นหนังสือที่ระบุเหตุผลอย่างชัดเจน จะให้เจ้าหน้าที่บอกโดยวาจาไม่ได้ จะแจ้งเป็น SMS ไม่ได้ (ส่วนใหญ่ SMS จะบอกว่าขอบคุณที่สมัครสินเชื่อแต่บริษัท/ ธนาคารไม่สามารถอนุมัติเงินกู้/ สินเชื่อแก่ท่านไม่ได้เนื่องจากไม่เป็นไปตามเกณฑ์/ ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติและเมื่อคนที่ขอกู้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ก็ได้รับคำตอบว่า น่าจะ/ อาจจะ มีประวัติติดเครดิตบูโร) เพราะกฎหมายของเครดิตบูโรกำหนดว่า สถาบันการเงินนั้นต้องออกเป็นหนังสือ บอกเหตุผลให้ชัดเจน ชัดเจนแบบที่คนอ่าน อ่านแล้วเข้าใจแทบไม่ต้องถามต่อ หากสถาบันไหนไม่ทำตามนี้มีโทษปรับ 300,000 บาท และปรับอีก 10,000 บาท ต่อวัน จนกว่าจะออกหนังสือ
คำถาม : ทำไมต้องให้ออกเป็นหนังสือ หากปฎิเสธสินเชื่อแล้วเอาเครดิตบูโรมาอ้าง เพราะโทษค่อนข้างแรง
คำตอบ : เพราะเมื่อมีใคร/ สถาบันการเงินที่เราไปขอสินเชื่อเขาเข้ามาดูข้อมูลอันเป็นความลับของเรา (ขนาดคู่สมรสยังไม่มีสิทธิเข้ามาดู) แล้วสถาบันการเงินนั้นๆ ควรต้องมีความรับผิดชอบต่อคนขอกู้ในการบอกเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้คนที่มาขอกู้และถูกปฎิเสธนั้นได้นำไปพิจารณา ตรวจสอบ ว่ามันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ขณะเดียวกันคนที่มาขอกู้จะได้มีโอกาสแก้ไข–ปรับปรุงในประเด็นนั้นๆ เช่น หากบอกว่ารายได้ไม่เพียงพอก็อาจใช้วิธีการเพิ่มผู้กู้ร่วมได้หรือไม่ หรือหากมีข้อมูลไม่ถูกต้องก็จะได้แก้ไขให้ถูกต้อง เป็นต้น วัฒนธรรมที่สถาบันที่ให้กู้พร่ำสอนกันมาว่าเวลาไม่ให้สินเชื่อใครนั้น ต้องบอกเขาโดยไม่ให้เขาเกิดความรู้สึก “เสียใจหรือเสียหน้า” เพราะ “คนบ้านเรา หน้าตาเป็นเรื่องใหญ่” ขณะที่คนขอกู้ก็ต้องมีเหตุผลในการรับฟังไม่ใช่เอะอะก็บอกว่า “เป็นการดูถูก ดูแคลน โกรธเคืองเมื่อเขาไม่ให้” ยิ่งมีความคิดว่า ต้องให้กู้ง่ายๆ สิ เศรษฐกิจจะได้เติบโต หรือคนอย่างผม/ อย่างฉันกู้แล้วต้องได้ เราต้องไม่ลืมความเจ็บปวดจากปี 2540