คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “ข้อคิด..ข้อควรระวัง…ในการเตรียมตัวไปขอสินเชื่อที่คนส่วนใหญ่มักไม่คิดคำนึงถึง” : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง

ข้อคิด..ข้อควรระวัง…ในการเตรียมตัวไปขอสินเชื่อที่คนส่วนใหญ่มักไม่คิดคำนึงถึง

นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563

จากที่ผมได้ปูพื้นและนำเสนอข้อมูลมายังท่านผู้อ่านว่า เครดิตบูโรคืออะไร เครดิตบูโรมีหน้าที่อะไร เกี่ยวข้องอย่างไร เกี่ยวข้องในส่วนไหนกับกระบวนการให้สินเชื่อ/การออกบัตรเครดิต ตลอดจนได้ให้ข้อมูลว่าเกณฑ์การพิจารณาเมื่อมีการวิเคราะห์สินเชื่อนั้น สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นธนาคาร Non Bank บริษัทบัตรเครดิต และบริษัทเช่าซื้อจะมุ่งไปที่ การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ และแหล่งที่มาของรายได้ว่ามีความแน่นอนมากน้อยแค่ไหน มีมากจนถึงระดับที่มั่นใจว่าลูกค้าที่มายื่นขอสินเชื่อนั้นสามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา จากนั้นจึงจะมาพิจารณาความตั้งใจในการชำระหนี้จากประวัติการก่อหนี้และการชำระหนี้ในแต่ละสัญญาที่เกิดขึ้นในอดีตย้อนหลังเป็นลำดับที่สอง และวิเคราะห์ความเหมาะสมของหลักประกันในลำดับสุดท้าย สิ่งที่จะนำเสนอวันนี้จะเป็น “ข้อคิด..ข้อควรระวัง…ในการเตรียมตัวไปขอสินเชื่อที่คนส่วนใหญ่มักไม่คิดคำนึงถึง” อันได้แก่

 

  1. ประเมินตนเองก่อนว่าตัวเรามีความสามารถในการชำระหนี้มากพอสำหรับหนี้ที่มีอยู่เดิมและหนี้ก้อนใหม่ที่กำลังยื่นคำขอสินเชื่อครั้งนี้ โดยมีวิธีการพิจารณาอย่างนี้คือ นำเอาภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น จำนวนเงินงวดในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนหนี้สินต่างๆ มาเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยจำนวนเงินที่เป็นรายได้ที่ตัวเราได้รับในแต่ละเดือน หากผลออกมาอยู่ในระดับ 60-65% (เงินที่ต้องผ่อนหนี้คิดเป็น 60-65 บาทต่อรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน 100 บาท) แล้วละก็ ตัวเราอาจอยู่ในฐานะที่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่มีอยู่เต็มเพดานแล้ว การก่อหนี้ใหม่และมีภาระต้องชำระเพิ่มเกินกว่า 60-65% นั้นจะทำได้ค่อนข้างยาก เหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะโดยหลักแล้วหากเรามีเงินรายรับ-รายได้ 100 บาทแล้ว หนึ่งในสามจะเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการดำรงชีวิต อีกหนึ่งในสามเราควรเก็บออม และหนึ่งในสามสุดท้ายควรเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หากว่าทั้งส่วนที่สองและสามที่จะเก็บออมไว้นั้นต้องเอามาจ่ายหนี้ตามสัญญาแล้ว การมีหนี้เพิ่มจะไปเบียดเอากับเงินที่ต้องกิน-ต้องใช้ในการดำรงชีวิต………..ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับเหตุผลที่คนโบราณเขาได้สั่งสอนมาแล้วหรือไม่

 

  1. ตรวจสุขภาพทางการเงินของเราก่อนไปขอสินเชื่อ-ขอเงินกู้หรือขอออกบัตรเครดิต เพราะเหตุว่าการไปยื่นขอกู้เงินเป็นเรื่องที่สำคัญ มีผลผูกพันกับตัวเราอย่างน้อยก็เป็นปีขึ้นไป เป็นภาระที่เราต้องมีการบริหารจัดการ และท้ายสุดเป็นเรื่องของวินัยทางการเงิน เท่าที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับปัญหาจะพบว่า ที่เคยเรียนกันมาว่า “รู้เขา-รู้เรา รบร้อยครั้ง-ชนะร้อยครา” นั้นไม่ค่อยทำกันหรือแทบไม่มีการทำกันเลย ส่วนมากพอเงินสดขาดมือ หมุนไม่ทันก็จะวิ่งหาเงินกู้ และออกอาการร้อนรนอยู่เป็นประจำ หลายท่านเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ประวัติการก่อหนี้ ประวัติการชำระหนี้ในอดีตของตัวเรานั้นเราเคยเห็นไหม เราเคยรู้ไหม ประวัติของตัวเราในมือของคนที่พิจารณาสินเชื่อนั้นหากเขาถามมาจากเอกสารนั้น เราสามารถหาคำตอบได้หรือไม่ เช่นท่านเคยค้างชำระสินเชื่อบ้านกับธนาคารแห่งหนึ่งเมื่อเดือน…ปี พ.ศ. …หรือไม่ เหตุผลที่ค้างเพราะอะไร หรือท่านเคยเกินวงเงินสินเชื่อเบิกเกินบัญชี-OD เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 งวดตั้งแต่เดือน…ถึงเดือน…..ปี พ.ศ. … ขอทราบเหตุผลว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นจึงทำให้เป็นเช่นนั้น แน่นอนในแง่ตัวผู้ประกอบการหรือตัวเรามักจะจำได้แต่ปัจจุบันว่าที่เคยค้างในอดีตนั้นได้มีการชำระหมดแล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่มายื่นขอกู้ในครั้งนี้แน่ การตอบคำถามถึงเรื่องในอดีตที่ไม่มีข้อมูลในมือ ไม่เตรียมตัวไปก่อน ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง ก่อให้เกิดความกังวลและอาจนำไปเป็นผลลบในการพิจารณาสินเชื่อที่กำลังขออยู่ก็ได้ เรื่องนี้แก้ไขได้ด้วยการตรวจสอบประวัติการก่อหนี้ ประวัติการชำระหนี้ที่เรียกว่าตรวจเครดิตบูโรของตัวเองก่อน ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มใน www.ncb.co.th ได้เพราะการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเรานั้นเป็นสิทธิที่กฎหมายรองรับ

 

ข้อคิดทั้งสองประการผมเห็นว่าสำคัญมากๆ และมักมีการละเลย ไม่ทำกันก่อน…ลองคิดดูนะครับ