เชื่อหรือไม่? หลังวิกฤติการเงินไม่มีเครดิตบูโรเป็นปราการสินเชื่อ
หัวข้อของบทความครั้งนี้ตั้งใจที่จะเล่าต่อเนื่องจากบทความเครดิตบูโรมันคืออะไร…เครดิตบูโรเกิดมาเพื่อป้องกันหนี้เสีย และอยู่เพื่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน…จะได้ไม่เจ็บเหมือนที่ผ่านมา
หากย้อนไปก่อนปี 40 การให้สินเชื่อสถาบันการเงินจะยึดกับความรู้ความสามารถของผู้จัดการสาขาเป็นหลัก มีการกระจาย อำนาจในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้มีอำนาจระดับภาค ระดับเขตที่ค่อนข้างสูง…ผู้จัดการสาขาจะรู้จักลูกค้า บางท่านจะเป็นเหมือนเทพในพื้นที่เพราะมีอำนาจในการจัดสรรและกระจายทุนให้คนไปทำมาหากินผ่านเงินกู้เงินให้สินเชื่อ
การจะนับว่าลูกค้าเป็นหนี้เสียหรือไม่ ต้องมีการค้างชำระเป็นปี ไม่ใช่ 3 เดือนอย่างในปัจจุบัน การติดต่อประสานงานไม่ได้รวดเร็วแบบ “บัดเดี๋ยวนี้” เช่นปัจจุบัน ดังนั้นเกณฑ์การพิจารณาจึงยึดกับเรื่องความคุ้มค่า หรือมูลค่าของหลักประกันมาเป็นลำดับแรก จนมีคำกล่าวว่า “No Land No Loan”
ลำดับที่สอง..พิจารณาเรื่องโครงการหรือรายได้ที่จะมาชำระหนี้ที่เรียกว่าการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ ลำดับที่สาม คือระดับความลึกของความสัมพันธ์เช่นเป็นลูกค้ากันมานานมากตั้งแต่รุ่นพ่อที่ต่อยอดมาถึงรุ่นลูก การเป็นที่นับหน้าถือตา การมีชื่อเสียงในพื้นที่เป็นหลัก
เจ้าหน้าที่สินเชื่อสมัยนั้นต้องอาศัยการสัมภาษณ์ การแสวงหาข้อมูลจากพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด เพียงเพื่อนในวงการบอกว่าเป็นลูกค้าดี แต่คำถามคือ..ถ้าเป็นลูกค้าดีทำไมไม่หวง ไม่รักษา สับขาหลอกหรือเปล่า? ดังนั้นหากยังจำได้บางบริษัทมีทุนเพียงไม่กี่ร้อยล้านกลับก่อหนี้ได้หลาย ๆ พันล้านบาท ทำให้ระบบสถาบันการเงินหลังปี 40 จึงมีหนี้เสียกว่า 40-50% ไม่พังก็ให้รู้ไป ยากที่จะอยู่รอด หากไม่เข้มแข็ง
การรู้จักตัวตนของคนที่มาขอกู้ ที่มาที่ไปของรายได้ ภาระหนี้ต่อเดือนเทียบกับรายได้ ประวัติการชำระหนี้ ข้อมูลเหล่านี้ต้องนำมารวมและแบ่งปันกันอย่างเป็นระบบ จึงต้องมีผู้ที่รับผิดชอบ คือ “เครดิตบูโร” ถามว่าเมื่อมีปราการนี้เพิ่มขึ้นแล้วพร้อม ๆ กับการยกมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อ การแยกผู้หาลูกค้ากับคนวิเคราะห์ลูกค้าจะทำให้การสอบยันข้อมูลดีขึ้นหรือไม่ ท่านว่าระบบสถาบันการเงินต้องมีปราการแบบนี้หรือไม่ อย่าลืมว่าเราได้เดินผ่านปีแห่งการเผาจริงและเผาหลอกมาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน…อย่าให้ฝันร้ายกลับมาอีกเลย