คาดการณ์ ปรับโครงสร้างหนี้ และสถานะในรายงานเครดิตบูโร
มีข่าวเผยแพร่ว่า Chief Economist ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แสดงความคิดเห็นต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในจีนว่า หากประเมินโดยอ้างอิงจากสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของการแพร่ระบาดครั้งก่อนๆ การแพร่ระบาดดังกล่าวจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากในระยะสั้น(เน้นย้ำว่า”อย่างมาก” และ “ระยะสั้น”) เนื่องจากแผนการใช้จ่ายต่างๆ จะต้องถูกยกเลิกหรือชะลอออกไป โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมากอีกครั้ง หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้นยังมีความไม่แน่นอนต่างๆ อีกมาก
การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการชำระหนี้ให้แตกต่างไปจากเดิมในลักษณะที่ผ่อนผัน ผ่อนปรนกว่าเดิม โดยเฉพาะการยืดเวลาที่หนี้ทั้งก้อนจะครบกำหนดออกไป บวกกับการจ่ายคืนหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยในจำนวนที่น้อยลง สอดคล้องกับกระแสเงินขาเข้ามา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภาระการจ่ายหนี้ในช่วงเวลาไม่ปกตินี้น้อยลงไป เมื่อรับและจ่ายของกิจการโดยเฉพาะ SMEs พอจะเดินต่อไปได้ การที่ต้องกลายเป็นหนี้เสีย หนี้ค้างชำระก็จะไม่เกิดขึ้น ที่สุดคือประวัติการชำระหนี้ก็จะยังคงดีต่อไป ลักษณะของลูกค้าที่จะเดินมาขอปรับโครงสร้างหนี้หรือที่เจ้าหนี้จะแนะนำให้ทำก็คือ
1.เป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่คาดไว้ก่อน
2.กระแสเงินสดฝั่งขาเงินเข้าเริ่มลดลงหรือมีลูกหนี้ของตนเองชำระเงินเข้ามาช้าลงอย่างมีนัยสำคัญ
3.ที่ผ่านมาในยามปกติ ลูกหนี้ก็เป็นลูกหนี้ที่มีประวัติดี ไม่มีการค้างชำระ หรือถ้ามีการค้างชำระก็เกิดขึ้นและจัดการชำระในเวลาต่อมาได้อย่างรวดเร็ว
4.เวลานี้ทางการเปิดทาง ผ่อนปรนเงื่อนไขให้การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่มาตรการลงโทษแต่เป็นมาตรการที่ทำตามความเหมาะสม และยังมีมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน คือป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสีย(ในอดีตมีแต่ต้องเป็นหนี้เสียก่อนถึงจะยอมปรับโครงสร้างหนี้กัน)
5. การค้างชำระเกิน 90วัน หรือค้างชำระติดต่อกันสามงวดการชำระนั้นถือเป็นมาตรวัดสำคัญในการบอกว่าบัญชีใดเป็นหนี้เสียหรือไม่
ทีนี้ถ้าลูกหนี้ยอมปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะข้ามเส้นการเป็นหนี้เสีย คือก่อนที่จะค้างชำระเกิน 90วันนั้น สิ่งที่อยู่ในประวัติคืออะไรบ้าง ผมใคร่ขอตอบดังนี้
(1)เงื่อนไขการชำระจะเป็นไปตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้หรือเอกสารแนบท้ายสัญญาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้
(2)เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่แล้วในแต่ละเดือน ประวัติการชำระก็จะถูกระบุว่าเป็น “ปกติ”ในแต่ละเดือนของการชำระครั้งนั้นๆ
(3)จะไม่มีการส่งข้อมูล”วันที่ปรับโครงสร้างหนี้” เข้ามาในระบบเครดิตบูโร ซึ่งเท่ากับว่าบัญชีดังกล่าวก็จะมีลักษณะเนียนๆเหมือนบัญชีปกติทั่วไป ไม่บอกก็ไม่รู้ว่ามีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน แต่ถ้าเจ้าหนี้ใช้วิธีปิดบัญชีเก่าแล้วเปิดบัญชีใหม่ว่าเป็นบัญชีปรับโครงสร้างหนี้แล้วล่ะก็ วิธีนี้ก็จะชัดเจนว่าตัวลูกหนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ชัดเจนตามวันที่เปิดบัญชีใหม่นี้ คนที่มาเห็นจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อหรือเงินกู้ใหม่หรือไม่ก็แล้วแต่เงื่อนไขและนโยบายของเขาครับ
(4)ถ้าลูกหนี้ทำตามเงื่อนไขสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ได้ก็เดินบัญชีปกติ แต่ถ้ายังทำตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ไม่ได้ก็จะเกิดทางเลือกได้ 2ทาง
(4.1)ทำการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่งหรือ
(4.2)เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ยึดทรัพย์ชำระหนี้ ฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปหรือ
(4.3)ขอเข้าสู่การพักชำระหนี้ หมายถึงการพักชำระต้นเงิน แต่ยังจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดตามที่เกิดขึ้นในแต่ละงวด ถ้าเข้าข้อนี้ ก็จะมีการรายงานสถานะว่าบัญชีนี้ มีการพักชำระหนี้ ซึ่งคนที่เห็นก็อาจลังเลที่จะให้เงินกู้ใหม่เพิ่มเติม
ในสภาพการณ์ปัจจุบัน การค้างชำระบางงวด บางเวลาจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเวลาปกตินะครับ ถ้าเห็นท่าไม่ดี ลูกหนี้เราดึงการชำระเงินให้ช้ากว่าเดิม กระแสเงินเข้าลดลงจนอาจก่อปัญหาให้กับกระแสเงินออกแล้วล่ะก็ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเพื่อรักษาสถานภาพในประวัติการชำระหนี้ที่เจ้าหนี้จะส่งมาที่เครดิตบูโรทุกๆเดือนคือ การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สินเสียแต่เนิ่นๆนะครับ ไม่มีเจ้าหนี้รายไหนที่ต้องการมีเรื่องมีราวทางกฎหมายกับลูกหนี้ครับ เพราะคนค้าขายทุกคนยึดคติ “กินขี้ดีกว่าค้าความ” ในยามที่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องยืดหยุ่นกันไป จนกว่าจะพ้นภัยที่คาดว่าจะเป็นระยะสั้นนี้
เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านครับ