คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “เครดิตบูโรกับมาตรการภาครัฐที่ออกมาต้นปี 2563” : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563

เครดิตบูโรกับมาตรการ ภาครัฐที่ออกมาต้นปี 2563

สิ่งที่อยากจะบอกเล่าในบทความครั้งนี้จะเป็นข้อมูลเพื่อให้ท่านผู้อ่าน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือไม่ก็ตามจะได้คิดต่อและติดตาม ตลอดจนได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทย…

1. กรณีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ภายใต้สภาพการณ์ในปัจจุบัน แยกออกเป็น

1.1 ปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ภาษาชาวบ้านคือ ปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย ลักษณะคือลูกหนี้มียอดขายลดลง มีกำลังการผลิตเหลือ ได้รับผล กระทบจากสภาพเศรษฐกิจแต่ว่ายังฝืนชำระหนี้ (เงินต้นและดอกเบี้ย) ได้ แต่ในอนาคตคงจะไม่ไหวแน่นอน เช่น มีหนี้บ้าน หนี้รถต้องจ่ายตามมาด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนของ และจ่ายได้แต่ขั้นต่ำของบัตรเครดิต ไม่สามารถจ่ายเต็มยอดได้ คือเอาเงินจากสินเชื่อรายย่อยมาหมุนในสินเชื่อธุรกิจ อันนี้จะเจอเยอะในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้คือ ยืดหนี้ออกไป ลดดอกเบี้ยลงมา แปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้เงินทุนหมุนเวียนแทน กาทำประมาณนี้ในลักษณะเชิงป้องกันของสถาบันคนให้กู้จะไม่มีการส่งข้อมูลวันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาให้เครดิตบูโร และถ้าลูกหนี้ทำตามเงื่อนไขได้ก็จะรายงานว่าบัญชีนี้ “ปกติ”

1.2 ปรับโครงสร้างหนี้แบบที่ต้องมีส่วนสูญเสีย คือ เป็นหนี้มีปัญหาแล้ว และปัญหานั้นหนักเบาก็ตามอาการที่ค้างชำระครับถ้าค้างแต่ยังไม่ต่อเนื่องเกิน 3 งวด หรือ 3 เดือน ก็ถือว่าเสียหายไม่มาก แต่ถ้าค้างชำระเกิน 90 วัน เกิน 180 วัน หรือเกิน 300 วัน อันนี้จะหนักขึ้นตามอาการ การเข้าดูสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร ปัญหามาจากไหน วางแนวทางการแก้ไขปัญหา แล้วก็จัดกระแสเงินสดรับจ่ายกันใหม่ พอมาทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ มันอาจต้องมีการลดต้น แขวนต้น ลดดอกเบี้ย ยืดหนี้ออกไปยาว ถ้าเข้าเกณฑ์นี้สถาบันคนให้กู้จะส่งข้อมูลวันที่เริ่มปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาให้เครดิตบูโร ในรายงานข้อมูลเครดิตก็จะปรากฏให้เห็น คนที่จะเข้ามาให้กู้เพิ่มรายเดิมหรือรายใหม่ อาจจะมีระยะเวลาดูใจสักนิดว่าเมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่แล้วต้องรอดูการชำระหนี้สักพักก่อนจึงจะให้กู้เพิ่ม

2. มาตรการที่สนับสนุนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการให้วงเงินค้ำประกันตรงกับลูกหนี้เอสเอ็มอี ก่อนที่ลูกหนี้รายดังกล่าวจะไปยื่นขอสินเชื่อ โดยการคัดเลือกลูกหนี้ของสมาคม สมาพันธ์ต่าง ๆ ที่ตนเองสังกัด มาให้ บสย. พิจารณาตั้งวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ลูกหนี้พอได้วงเงินค้ำประกันก็เหมือนมีหลักประกันอยู่ในมือ การเดินไปคุยกับสถาบันคนปล่อยกู้ก็จะมั่นใจมากขึ้น

สิ่งที่เครดิตบูโรช่วยคือ การให้ข้อมูลประวัติการชำระหนี้ เครดิตสกอริ่งหรือคะแนนเครดิตกับ บสย.ให้เห็นศักยภาพและโอกาสที่จะชำระหนี้ได้ของลูกหนี้ว่ามีอยู่สูงระดับไหน ก่อนที่จะเดินหน้าไปยื่นขอกู้ ลักษณะนี้เรียกว่า รู้ตัวเรา (ตัวลูกหนี้) ก่อนเดินไปหาเขา (ตัวเจ้าหนี้) เพราะเขาคนนั้นจะดูและถามเราจากข้อมูลเหล่านั้นนะครับ

อยากบอกเล่าความตั้งใจ และการให้ความสนับสนุนมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือเกื้อกูลเอสเอ็มอีรายเล็กรายน้อย ให้อยู่รอดและปลอดภัยในยามนี้ครับ….

ขอบคุณครับ