เป็นหนี้ต้องใช้หนี้
บทความในครั้งนี้จะกล่าวถึงปัญหาและทำความเข้าใจในเรื่องที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นการวางแผนที่จะก่อหนี้ การชำระหนี้ การออม และการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากประชาชนที่มีภาระหนี้สิน และที่ไม่มีหนี้สิน
จากคำถามมากมายผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้พบข้อเท็จจริงจากการบอกเล่าของผู้คนที่ตั้งคำถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ข้อมูลอันเป็นประโยชน์นี้ ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่พอใจ ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องที่ถูกต้องของผู้คน “เครดิตบูโร” จะนำมาขยายผลและดำเนินการต่อไป
1. คำถามมีอยู่ว่า เคยเป็นหนี้บัตรกดเงินสด เนื่องจากต้องนำเงินออกมาใช้รักษาตนเองที่เจ็บป่วยกะทันหัน ต่อมาพยายามชำระหนี้แต่ว่าไม่ไหว ได้โทรฯไปเจรจาต่อรองขอให้มีการพิจารณาลดหนี้ลงมาบางส่วน แล้วจะทยอยผ่อนที่เหลือ เมื่อไม่ได้รับคำตอบทางลูกหนี้จึงหยุดจ่าย ย้ายที่ทำมาหากินไปยังที่ใหม่
เมื่อมาคิดถึงเงินที่ค้างก็เกรงว่าจะถูกฟ้องหนี้จากเจ้าหนี้ และพบว่าบัญชีเงินกู้นั้นมีการโอนขายจากสถาบันที่เป็นเจ้าหนี้มายังบริษัทติดตามหนี้สิน หากเป็นตามที่เล่ามาแล้วอยากทราบว่าตนเองจะมีปัญหาอะไรหรือไม่?
2. ก่อนตอบคำถามในรายละเอียดได้สอบถามเป็นประเด็นให้คิดว่า หากไปให้เพื่อนกู้เงิน ต่อมาเพื่อนไม่จ่าย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน แล้วเพื่อนที่ยืมเงินโทรฯหาตัวเจ้าหนี้เพื่อขอลดหนี้ลงมาบ้าง ลองคิดดูว่าเจ้าหนี้จะยอมหรือไม่? คำตอบคือไม่มีใครยอมลดหนี้ให้ เพราะเอาไปเท่าใดก็ต้องใช้หนี้เต็ม บวกกับดอกเบี้ย เรียกว่า ยึดหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา
สรุปเมื่อเราเป็นหนี้ เป็นลูกหนี้ ก็ต้องเข้าใจคนที่เป็นเจ้าหนี้ว่าเขาไปเอาเงินมาจากคนฝากเงินอีกทีหนึ่งมาให้กับคนที่เป็นลูกหนี้ เงินนั้นไม่ใช่เงินของนายธนาคาร หากทำไม่ถูกต้องก็เสี่ยงที่จะถูกดำเนินการทางกฎหมาย
3. ตามข้อเท็จจริงข้อ 1 และข้อ 2 ประวัติของคนที่เป็นลูกหนี้รายนี้ก็ยังอยู่ในเครดิตบูโรและแสดงรายละเอียดว่า บัญชีนี้ถูกโอนขายออกไป แต่ยังมีประวัติว่าค้างชำระ เพราะไม่มีการชำระหนี้ตามสัญญา โอนขายเมื่อ มี.ค. 63 ข้อมูลรายละเอียดทุกบรรทัดของบัญชีนี้จะถูกลบหายออกไปจากระบบในเดือนมี.ค. 66 ลูกหนี้จึงต้องเร่งเจรจากับบริษัทติดตามหนี้ในการชำระหนี้ให้จบ จะมีส่วนลดอย่างไรก็ว่าให้จบ เมื่อชำระหนี้หมดแล้วให้นำเอกสารการปิดบัญชีชำระหนี้มายื่น “เครดิตบูโร” เพื่อให้บันทึกประวัติข้อมูลการชำระหนี้ไว้เหนือบัญชีที่มีการขายออกไป
4.สถาบันการเงินที่เข้ามาดูเขาจะได้เห็นเรื่องว่าบัญชีนี้ปิดไปแล้วอย่างสมบูรณ์นั่นเอง หลักมีอยู่ว่า ลูกหนี้จะมีอิสระทางการเงินก็ต่อเมื่อตนเองหมดหนี้และที่สำคัญต้องมีออมไว้ด้วยในระยะต่อมา จึงจะเรียกว่ามีความมั่นคงในการดำรงชีวิตครับ