เริ่มต้นปีใหม่ สร้างแผนการเงินยังไงให้แผนไม่ล่มตลอดปี

ในแต่ละปีเชื่อว่าคงมีหลายคนที่ตั้งใจว่าแผนการเงินให้สำเร็จ ศึกษาเรื่องการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินของเราให้งอกเงย แต่ก็ดันล้มเหลวไม่เป็นท่าด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง จนสุดท้ายแผนการเงินที่วางมาซะดิบดีก็ล่มไปในที่สุด
แต่ในเมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ อะไรที่เคยผิดพลาด แผนการเงินที่เคยวางแล้วล่มมาก่อนหน้าก็ให้ทิ้งไปให้หมด มาเริ่มสร้างแผนการเงินใหม่ในปี 2566 แล้วครั้งนี้เราจะต้องวางแผนจัดการการเงินยังไงให้ไม่ล่มเหมือนที่ผ่านมาอีกกันล่ะ

1. ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเป็นแบบแผน
ขนาดการทำธุรกิจยังต้องมีแบบแผนการเงิน วางงบการเงินให้ชัดเจน แผนการเงินส่วนบุคคลก็เช่นเดียวกัน โดยแผนการเงินที่จะทำขึ้นมานี้จะต้องครอบคลุมถึงรายรับ รายจ่ายทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ภาระหนี้สินต่าง ๆ ก็ต้องรวมเข้าไปด้วยเพื่อป้องกันการเกิดประวัติการเงินที่ไม่ดีกับเรา ซึ่งจะต้องลิสต์ออกมาให้เป็นระเบียบแบบแผน และรัดกุมมากที่สุด

2. ประเมินสถานะการเงินของตนเอง
ถ้าไม่อยากให้แผนการเงินล่ม สิ่งที่เราควรทำเลยคือประเมินสถานะการเงินของตนเองก่อนว่าตอนนี้การเงินของเรานั้นเป็นบวก (+) หรือลบ (-) สถานะการเงินบวกในที่นี้คือเรามีรายรับเข้ามามากกว่ารายจ่าย มีเงินเหลือเก็บออมในแต่เดือน ไม่ติดขัดด้านการเงิน แต่หากมีสถานะการเงินเป็นลบหมายความว่ารายจ่ายเรามีมากกว่ารายรับ ถามว่าทำไมเราต้องรู้สถานะการเงินของตนเองด้วย ก็เพื่อที่เวลาเราวางแผนการเงิน เราจะได้จัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายว่าเราจะต้องทำอะไรก่อนและหลัง เช่น หากเรามีภาระหนี้ที่มากกว่ารายรับ เราก็ต้องจัดการหนี้สินให้หมดก่อนที่จะออมเงิน หรือลงทุน แต่หากเราไม่มีภาระหนี้อะไรก็ขั้นต่อไปก็คือเริ่มศึกษาเรื่องการเงิน การลงทุนต่อไปเลย

3. ทบทวนการเงินทุกไตรมาส
ถ้าหากมองว่าการทบทวนการเงินในทุก ๆ เดือนดูเยอะไป ให้ลองปรับมาทบทวนในทุก ๆ ไตรมาส หรือทุก 3 เดือนดู เพื่อที่จะได้เห็นข้อผิดพลาดแบบชัดเจน และจะได้นำไปปรับปรุงแผนการเงินในครั้งต่อไปได้

4. อย่าตั้งเป้าหมายการเงินที่ดูซับซ้อนจนเกินไป
บางทีการที่เราวางเป้าหมายการเงินซับซ้อนยาก ๆ เกินขีดความสามารถที่เราจะทำได้ ก็ทำให้แผนล่มง่ายขึ้น เช่น อยากมีของราคาแพง แต่สวนทางกับรายได้ที่เรามี เป็นต้น ซึ่งก็ดูยากที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น ให้เราวางแผนการเงินง่าย ๆ ตรงตัวไปเลย เช่น เริ่มต้นออมเงินง่าย ๆ เดือนละ 5% ปีที่ 2 ออมเดือนละ 7% ปีที่ 3 และถัด ๆ ไป ออมเดือนละ 10% เป็นต้น และเมื่อครบกำหนดค่อยนำเงินก้อนนั้นไปต่อยอดในอนาคตต่อไป

5. แบ่งเงินใช้กับความสุขของตนเอง
บางคนอาจวางแผนการเงินที่ตึงเครียดเกินไปจนไม่มีความสุขในการเก็บเงิน พอมีช่วงที่พลาดก็หดหู่ใจ พลาดไม่อยากออมเงินต่อเพราะรู้สึกไม่อยากผิดหวัง หรือล้มเหลวในการออมเงิน และก็จะหาสารพัดเหตุผลมาอ้างไม่ออมเงิน
แนะนำว่าถ้าไม่อยากให้แผนการเงินล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้แบ่งสัดส่วนเงินมามอบความสุขให้กับตนเองบ้าง อย่างน้อย ๆ ก็เดือนละครั้งเป็นการสร้างกำลังใจ และแรงกระตุ้นที่อยากทำให้เราออมเงินต่อไป

สุดท้ายนี้แผนการเงินที่วางไว้จะสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับวินัยการเงินของแต่ละคน หากเราตั้งใจว่าจะอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แผนการเงินที่เราวางไว้ก็จะสำเร็จอยู่ไม่ไกล