“ทำงานเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งเดือน แต่ไหงเงินเดือนดันใช้ได้ไม่ถึงเดือนกันล่ะนี่”
ปัญหาคลาสสิกของเหล่ามนุษย์เงินเดือน ที่ทำงานมาตลอดเดือน แต่เงินเดือนกลับอันตรธานหายไปไหนซะหมดก็ไม่รู้ ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่ซีเรียสเท่าไหร่นัก แต่ความเป็นจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย เพราะปัญหาเงินเดือนชนเดือนเป็นวงจรที่เข้าแล้วหากยังไม่มีวินัยทางการเงินก็คงไม่ได้ออกมาง่าย ๆ แต่ก็พอเข้าใจได้ว่ารายจ่ายของมนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนนั้นมีรายจ่ายที่ค่อนข้างมาก ทำให้อาจจะเผลอละเลย หรือลืมการบริหารจัดการเงินเดือนให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย
หากเหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องการหลุดออกจากวงจรเงินเดือนชนเดือนนี้ได้ ต้องมาดูกันก่อนว่าใน 1 เดือน มนุษย์เงินเดือน มีเงินเข้า-ออกบัญชีเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยจะแบ่งแบบง่าย ๆ คือรายรับ-รายจ่าย นั่นเอง
▲ รายรับมนุษย์เงินเดือน
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เพียงทางเดียว
ประเภทนี้คงต้องคิดวางแผนหนักในเรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะหากบริหารไม่ดีก็อาจล้มเหลวได้
- มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้มากกว่า 1 ทาง
มนุษย์เงินเดือนประเภทนี้อาจจะได้เปรียบหน่อย ๆ ตรงที่ว่ามีรายรับมากกว่า 1 พอให้สามารถหมุนเงินได้อย่างคล่องตัว แต่หากไม่มีการจัดการที่รัดกุมพอ ต่อให้มีรายได้กี่ทางก็คงหมดอยู่ดี
▲ รายจ่ายมนุษย์เงินเดือน
ไม่ว่าจะมีรายรับมาด้วยกันกี่ทาง เชื่อว่ารายจ่ายในแต่ละเดือนของแต่ละคนคงไม่พ้นในเรื่องนี้ ได้แก่ ค่าที่พักอาศัย, ค่าน้ำ/ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์มือถือรายเดือน, ค่าการเดินทาง, ค่าอาหารแต่ละมื้อ, ค่าของใช้ส่วนตัว ซึ่งจำนวนเงินของแต่ละคนก็คงไม่เท่ากัน ดังนั้นการที่จะระบุจำนวนเงินให้ก็คงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก แต่สิ่งที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนสามารถทำได้ด้วยตัวเองเลยก็คือ “การสำรวจสภาพคล่องทางการเงิน” ของตัวเราเองว่าในแต่ละเดือนหมดค่าใช้จ่ายไปกับอะไร และค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่พอจะลดสัดส่วนไปได้ และถ้าหากต้องการหลุดพ้นจากวงจรปัญหาเงินเดือนชนเดือน ควรลิสต์ออกมาให้ย่อยเพื่อเห็นภาพรวมกว้าง ๆ ได้มากที่สุด อีกทั้งยังต้องสร้างวินัยการเงินที่ดี ด้วยการจัดสรรสัดส่วน เงินออม/เงินลงทุนไว้ด้วย
เมื่อสำรวจสภาพคล่องทางการเงิน จนเห็นภาพรวมทั้งหมด ก็มาถึงการบอกลา… ปัญหาเรื่องเงินเดือนชนเดือนที่เคยผ่าน ๆ มา ด้วย 5 วิธีนี้กันเถอะ
- สัดส่วนค่าใช้จ่ายต้องแบ่งให้ชัดเจน
ถ้าจะหลุดจากวงจรเงินเดือนชนเดือนให้ได้ก็ต้องเริ่มจากแบ่งสัดส่วนของค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน ใน 1 เดือนมีรายจ่ายอะไร คำนวณแต่ละสัดส่วนออกมาว่าในแต่ละวันใช้จ่ายกี่บาท และคำนวณให้กลายเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน เมื่อถึงเวลาใช้ก็ค่อยนำออกมาใช้จ่าย
- วินัยการออมสร้างได้
แยกบัญชีออมเงินออกมาจากเงินในส่วนของค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นตัวที่จะคอยกระตุ้นให้เราเกิดวินัยทางการเงินขึ้นมา โดยอาจจะสร้างเป้าหมายของเงินออมส่วนนี้ไว้ก็ได้ว่า ออมเงินไปเพื่ออะไร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ มาออมเงินตรงนี้แทน
- หยุดสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น
หนี้ที่เกิดจากความอยากได้อยากมีด้วยอารมณ์ชั่ววูบนั้นขอให้หยุดซะ ถ้าอยากออกจากวงจรเงินเดือนชนเดือนนี้ เพราะการสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น เช่น หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือเกินตัว ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราต้องหมดกับค่าใช้จ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้ตัว แต่หากจะก่อหนี้ แนะนำว่าให้เปลี่ยนจากหนี้ที่ไม่จำเป็น มาเป็นหนี้ดีกันดีกว่า
- อย่าตกเป็นเหยื่อการตลาด
โปรโมชันล่อตาล่อใจ เป็นหนึ่งในกับดักที่ทำให้เราไม่หลุดพ้นจากวงจรเงินเดือนชนเดือน ดังนั้นการสำรวจรายจ่ายในแต่ละเดือนแล้วเห็นว่า เราหมดกับค่าใช้จ่ายไปกับของลดราคา สินค้าโปรโมชัน ให้ลองเลิกชอปสักเดือน ไม่แน่ว่าเราอาจจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเลยก็ได้
- ต่อยอดทีละนิดเพื่อพิชิตเงินล้าน
เงินจะงอกเงยเพิ่มพูนขึ้นไม่ได้ หากไม่รู้จักวิธีการต่อยอดเงิน วิธีที่จะออกจากวงจรนี้คือเริ่มเรียนรู้เรื่องการลงทุน เพื่อนำเงินของเราไปต่อยอด สร้างผลตอบแทนทีละเล็กทีละน้อย ที่อาจเป็นหนึ่งในรายรับที่เราจะได้กลับมาในอนาคต ทั้งนี้ต้องเลือกลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง และศึกษาข้อมูลความเสี่ยงของแต่ละประเภทการลงทุนอย่างรอบคอบ
ท้ายที่สุดการที่เราจะบอกลาการเป็นมนุษย์เงินเดือนชนเดือนได้ ต้องเริ่มการรู้จักการจัดการบริหารการเงินในแต่ละเดือนให้มีวินัยอย่างสม่ำเสมอ