อ่านก่อนกู้เงิน : ก่อนขอสินเชื่อต้องรู้อะไรบ้าง

หากต้องการที่จะขอสินเชื่อ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เราต้องประเมินตัวเองว่ามีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ เมื่อเราประเมินสถานการณ์การชำระหนี้ของเราแล้ว ก็เลือกประเภทของสินเชื่อและสถาบันการเงินที่เราจะไปขอสินเชื่อ โดยต้องศึกษารายละเอียดและข้อเสนอให้ดี ทำความเข้าใจและกระบวนการของการขอสินเชื่อให้ละเอียด

เอกสารที่ใช้ในการขอสินเชื่อ

การเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอสินเชื่อนั้นอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของสินเชื่อ ซึ่งเอกสารประกอบคำขอสินเชื่อแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

เอกสารประจำตัว เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

เอกสารเกี่ยวกับรายได้ ได้แก่

  • ผู้มีรายได้ประจำ ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
  • ผู้มีอาชีพอิสระ กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วยบัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร
  • นิติบุคคล ได้แก่ สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน และแผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ

เอกสารอื่น ๆ  เช่น  สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ สัญญากู้เงิน และสัญญาจำนองจากสถาบันการเงินเดิม ในกรณีมีผู้กู้ร่วม จะต้องมีหลักฐานประจำตัว และหลักฐานรายได้ของผู้กู้ร่วม ในกรณีที่ขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สิ่งที่จำเป็นคือแผนธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจของ SMEs แผนโครงการที่ต้องการดำเนินการ

การค้ำประกันและหลักประกัน

การค้ำประกันและหลักประกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ให้สินเชื่ออาจใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อให้มั่นใจว่าหากผู้ขอสินเชื่อชำระหนี้ไม่ได้ สถาบันการเงินยังมีทางที่จะได้เงินคืน เช่น สามารถยึดหลักประกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่ หรือให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน โดยหลักทรัพย์ที่นิยมนำมาเป็นหลักประกัน เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงิน หุ้นกู้ และอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีสินเชื่อที่มีบุคคลค้ำประกัน สถาบันการเงินก็จะพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันประกอบด้วย

เกณฑ์ที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาสินเชื่อ

ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย โดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ

  • นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ เช่น ผู้ให้สินเชื่อบางรายอาจกำหนดว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
  • วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือลงทุนขยายโรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
  • คุณลักษณะและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะใช้หลัก 5 Cs ประกอบด้วย
  1. Character คือ คุณลักษณะและความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อ วินัยในการใช้และการชำระสินเชื่อในอดีต ซึ่งบอกถึงความสามารถในการใช้หนี้และการบริหารจัดการสินเชื่อ เช่น ในกรณีบุคคลธรรมดาอาจพิจารณาอายุ อาชีพ สถานะภาพสมรส ส่วนกรณีผู้ขอสินเชื่อประกอบธุรกิจอาจพิจารณาประเภทของธุรกิจ ประวัติของผู้บริหาร ระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ
  2. Capacity คือ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้คืนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ รวมถึงความมั่นคงของรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ในอนาคต เช่น รายได้ในปัจจุบัน ภาระหนี้สินที่มีอยู่ ประวัติการชำระยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่ออื่น ๆ
  3. Capital คือ เงินทุน สินทรัพย์ หรือเงินฝากของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อเป็นหลักประกันการให้กู้ยืม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสินเชื่อธุรกิจ แม้ว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะไม่ใช่แหล่งเงินสำหรับชำระหนี้ แต่จะเป็นแหล่งเงินสำรองสำหรับการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อในกรณีที่เกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้
  4. Collateral คือ ผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันที่ผู้ขอสินเชื่อนำมาจำนำ หรือจำนองเพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจและลดความเสี่ยงหากผู้ขอสินเชื่อไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ซึ่งสามารถให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนหรือนำหลักประกันมาขายทอดตลาดได้ตามที่กฎหมายกำหนด
  5. Conditions คือ ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ เช่น เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความมั่นคงในรายได้และการงาน ปัญหาสงคราม สิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนหรือรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต

สิทธิของผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินกรณีไม่ได้รับอนุมัติหรือถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน *

หากผู้ขอสินเชื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ผู้ขอสินเชื่อสามารถขอทราบเหตุผลของการไม่อนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อมีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงศักยภาพ และสามารถขอสินเชื่อได้ใหม่ในอนาคต โดยตัวอย่างคำชี้แจง เช่น รายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ มูลหนี้คงค้างสูงเกินไป นอกจากนั้น ในกรณีการขอสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ หากถูกปฏิเสธสินเชื่อ ก็สามารถขอรับคืนเอกสารสำคัญที่เคยยื่นไว้เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ เช่น งบการเงิน แผนประกอบธุรกิจ รายละเอียดหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะต้องคืนให้ภายในเวลาอันควร

* ไม่ใช้บังคับกับ Non-bank ที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต

การติดตามทวงถามหนี้

“ก่อหนี้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว” และ “เป็นหนี้ต้องชำระ” เป็นกฎเหล็กที่ลูกหนี้ควรปฏิบัติ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้วลูกหนี้กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะทวงเงินคืนหรือจ้างตัวแทนที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558​​ เช่น ​

  • ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ และห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งลูกหนี้ระบุไว้
  • กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการทวงหนี้ ต้องแสดงตัวตนต่อลูกหนี้โดยแจ้งชื่อ นามสกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ รวมทั้งจำนวนหนี้ และถ้าเป็นการทวงหนี้ต่อหน้าให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย​​
  • กรณีทวงหนี้และขอรับชำระหนี้ด้วย ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้ และเมื่อ ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วต้องออกหลักฐานให้ด้วย
  • ให้ติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ระบุไว้ หากไม่สามารถติดต่อได้ สามารถติดต่อที่ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ได้ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 00 น. และวันหยุดราชการ เวลา 08.00 – 18.00 น. ซึ่งต้องติดต่อในจำนวนครั้งที่เหมาะสม
  • ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยวิธีที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้ เช่น ใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้
  • ห้ามข่มขู่ ดูหมิ่น ใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สิน
  • ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น ใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานของรัฐ สำนักงานกฎหมาย บริษัทข้อมูลเครดิต รวมทั้งแสดงข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน
  • ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่กำหนดชักจูงให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้

หากผู้ทวงหนี้ปฏิบัติขัดต่อพระราชบัญญัตินี้หรือลูกหนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่หน่ว​ยงานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) กรมการปกครอง โทร. 0 2356 9660

2) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359

3) ที่ทำการปกครองจังหวัด

4) กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร. 0 2354 5249

5) สถานีตำรวจ ​

6) ที่ว่าการอำเภอ

ขอบคุณที่มาและข้อมูลจาก ศคง.
https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/loans/Pages/beforeloan.aspx