ในสถานการณ์ที่โซเชียลมีเดียเข้าถึงได้ง่าย ในยุคที่คนทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ เช่น สมัครลงทะเบียน ชำระเงินสินค้า เป็นต้น ก็มีอันตรายที่แฝงมาอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการหลอกล่อลวงเงินซึ่งมีหลายคนตกเป็นเหยื่อกันเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา ความแนบเนียนของกลุ่มมิฉาชีพที่มีการพัฒนาขึ้นทุกวี่วัน พวกเราก็ต้องอัปเกรดตนเองด้วยการรู้เท่าทันภัยไซเบอร์การเงินเหล่านี้
วันนี้มาเปิดกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพแบบใหม่ล่าสุด เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อโจรกรรมทางการเงิน จะมีวิธีการหลอกล่อเหยื่อยังไงต้องมาดู!
- ล่อด้วยของรางวัลน่าสนใจ และส่ง URL หลอกให้คลิกลิงก์
แก๊งมิจฉาชีพจะเริ่มจากหลอกล่อด้วยของรางวัล และทำการส่งข้อความให้กับเหยื่อไม่ว่าจะทาง ข้อความ SMS, E-mail โดยจะปลอม Sender หรือชื่อผู้ส่งข้อความอย่างเนียบเนียน เพื่อให้เราเชื่อและคลิกเข้าไปที่ลิงก์ที่มิจฉาชีพส่งมา ซึ่งการหลอกให้คลิกลิงก์นั้นก็สามารถหลอกดูดเงินได้อีกหลายทาง เช่น คลิกเข้าไปแล้วให้เราเพิ่มเพื่อน และคุยหลอกล่อให้โอนเงิน หรือหลอกให้เราติดตั้งแอปที่ไม่มีอยู่ใน Google Play หรือ App Store เพื่อหลอกดูดเงิน
- หลอกผูกบัญชีกับเบอร์โทรศัพท์
แก๊งมิจฉาชีพจะทำการโทรมาหาเรา และทำการอ้างสารพัดเหตุผล เช่น เรามีติดหนี้บัตรเครดิต ไม่จ่ายภาษี พัสดุค้างจัดส่ง หรือสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น โดยจะหลอกล่อถามเราว่าบัญชีธนาคารของเราได้ผูกติดกับเบอร์โทรศัพท์ หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่ พอได้ข้อมูลมาแก๊งมิจฉาชีพก็จะทำการเอาไปผูกกับบัญชีที่เปิดใหม่เปิดบัญชีแบบออนไลน์ และผูกกับข้อมูลของเราที่ให้ไว้ หากเรากด “ยอมรับ” จากข้อความที่แจ้งเตือนขึ้นมาในโทรศัพท์ มิจฉาชีพก็จะดูดเงินออกไปจนเกลี้ยงบัญชี
- สวมรอยและหลอกเป็นเจ้าหน้าที่พนักงาน
กลโกงของแก๊งมิจฉาชีพพัฒนาขึ้นทุกวัน โดยทริคการโกงของคนกลุ่มนี้คือจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานโทรมาหาเรา อ้างว่าติดหนี้บัตรเครดิต หรือบอกว่าเราอยู่ในเครือข่ายกระบวนการฟอกเงิน ทำสิ่งผิดกฎหมาย และจะต้องทำการสอบสวน ตรวจสอบข้อมูลโดยทำการเพิ่มเพื่อนจากเบอร์โทรฯ ของเรา จากนั้นก็จะวิดีโอคอลโดยแก๊งมิจฉาชีพก็จะแต่งตัวให้สมจริงเพื่อหลอกให้เราตายใจ และอาศัยช่วงเวลาที่เรากำลังจะเชื่อ หลอกให้เราโอนเงินจนหมดตัวแบบไม่รู้ตัว
- ซื้อโฆษณาบนโซเชียลมีเดียโดยอ้างเป็นแบรนด์ดัง
กลโกงอีกรูปแบบที่น่ากลัวคือมิจฉาชีพจะทำการแฝงตัวมาบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, Google เป็นต้น โดยจะแอบอ้างเป็นแบรนด์ดังที่คนส่วนใหญ่รู้จักกัน และทำการซื้อโฆษณาเพื่อเชื่อมโยงไปเว็บไซต์ปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาข้อมูล หรือสามารถสวมรอยเพื่อดูดเงินในบัญชีได้
- แฮกแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดีย
มุกคลาสสิกที่ถูกอัปเกรดการหลอกลวงเพิ่มเข้าไป จากตอนแรกอาจจะแค่สวมรอยเป็นตัวเรา ทักไปหาคนใกล้ชิดเพื่อขอยืมเงิน และหลอกให้โอน แต่ตอนนี้มิจฉาชีพจะแฮกบัญชีแต่ละแพลตฟอร์มของเรา และตั้งเป็นแอดมิน ผู้ดูแลเพจเพื่อดูดเงินจากการจ่ายค่าโฆษณา โดยจะผูกกับบัญชี หรือบัตรเครดิตของเราเอง
จะเห็นได้ว่ากลโกงของภัยทางการเงินมีหลายรูปแบบ และมีการเปลี่ยนไปตลอดเวลา นั่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องรู้เท่าทันภัยการเงินจากแก๊งต้มตุ๋น หมั่นติดตามอัปเดตข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อโจรกรรมทางการเงิน