“เคยเป็นไหม ? เก็บเงินไม่ค่อยอยู่ เพราะเริ่มเบื่อกับวิธีการเก็บเงินแบบเดิม ๆ”
เพราะบางครั้งการเก็บเงินแต่ละทีจะต้องมีแรงผลักดัน หรือแรงกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากเก็บเงิน แต่พอไม่มีสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นที่หนักมากพอก็จะทำให้แผนการเงินของเราล้มเหลวไปโดยปริยาย ทฤษฎี Nudge Theory จึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในทฤษฎีการออมเงิน ที่จะช่วยให้คุณเก็บเงินแบบปัง ๆ วางแผนการเงินได้แบบยาว ๆ
Nudge Theory หรือทฤษฎีผลักดัน เป็นทฤษฎีของดร.ริชาร์ด เอช. เธอเลอร์ ผู้คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับการออกแบบสถานการณ์ หรือทางเลือก แต่ไม่ใช่การบังคับฝืนใจ เพื่อให้เราผลักดันทำให้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งเมื่อนำมาปรับใช้กับในเรื่องของการเงินก็จะช่วยให้เรามีแรงผลักดัน สามารถไปสู่เป้าหมายได้ตามต้องการได้อย่างง่าย ๆ เพราะโดยปกติคนเรามักจะไม่ชอบเรื่องของการบีบบังคับ หรือฝืนใจทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ ทฤษฎีนี้ก็จะมาช่วยปรับใช้กับการออมเงินของเราได้ ด้วย 4 วิธีนี้ค่ะ
- เมื่อทำถึงเป้าหมายต้องให้รางวัลกับตัวเอง
หากเราเริ่มต้นการออมเงินมาได้ระยะหนึ่ง สิ่งที่จะช่วยให้เราจะสามารถออมเงินต่อไปได้คือการให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ กับตัวเอง เพื่อสร้างกำลังใจ หรือแรงผลักดันในการออมต่อ ๆ ไป เพราะหากเราออมเงินแบบตึงเกิน ก็อาจทำให้ไม่มีความสุขกับการออม แต่ถ้าหากหย่อนไปก็อาจทำให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ช้าลง ฉะนั้นจึงควรมีทางสายกลางเพื่อสร้างแรงผลักดันในการออมเงินต่อไปได้
- ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ประจำวันให้เป็นคนใหม่
การค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันทีละนิดนั้น จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ได้เร็วขึ้น เพราะเราจะต้องปรับพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเรานั่นเอง เช่น วางเป้าหมายเก็บเงินแสนให้ได้ภายใน 1 ปี เราก็จะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เป็นต้น
- จัดทำบัญชีแยกเป็นส่วน ๆ
การแยกเงินออกเป็นส่วน ๆ ออกในแต่ละบัญชี จะช่วยให้เราจดจำได้ว่าแต่ละบัญชีเราจะใช้เงินไปกับอะไร เช่น บัญชีเงินเดือน บัญชีเงินเก็บ บัญชีค่าใช้สำหรับชีวิตประจำวัน บัญชีสำหรับการลงทุน บัญชีสำหรับการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งการแยกเงินออกเป็นส่วน ๆ เช่นนี้จะช่วยให้เงินไม่กระจุกอยู่ที่เดียว ช่วยให้เราไม่เผลอใช้ไปจนหมด และยังเป็นแรงผลักดันให้เราหาเงินมาเก็บออมเยอะ ๆ ได้อีกด้วย
- เช็กยอดเงินในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ
การเช็กเงินในบัญชีซ้ำ ๆ ถือเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เพราะการที่เราเห็นจำนวนตัวเลขในบัญชีจะเป็นการสร้างแรงผลักดันให้เราอยากออมเงินมากยิ่งขึ้น และไม่เผลอตัวไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือสิ่งของที่ไม่จำเป็น
สุดท้ายนี้ Nudge Theory ก็เป็นเพียงหนึ่งในทฤษฎีที่จะช่วยสร้างแรงผลักดันให้การออมเงินของเราไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่เป้าหมายทั้งหมดคงจะสำเร็จไม่ได้หากเราไม่มีการปรับพฤติกรรม และสร้างวินัยทางการเงินอย่างสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.krungsri.com/bank/th/krungsri-consumer/moneymatters/nudge-theory.html