บริหารเงินให้มั่นคงทุกช่วงอายุ รวมเทคนิคสำหรับ 5 วัย ตั้งแต่วัยใส ยันวัยเกษียณ

ในแต่ละวัยมีการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน เหตุการณ์ต่าง ๆ สถานการณ์ที่ต้องพบเจอ รวมถึงทั้งเป้าหมายต่าง ๆ ก็ย่อมไม่เหมือนกันค่ะ การวางแผนในการบริหารเงินก็เช่นกัน จะจัดสรรเงินให้มั่นคงก็ต้องมีความเข้าใจในช่วงวัยของตนเอง เตรียมพร้อมหาวิธีการรับมือ และออกแบบแนวทางในการบริหารเงินในแต่ละช่วงอายุของตนเองอย่างเหมาะสม วันนี้มีเทคนิคการจัดสรรเงินให้มั่นคง ทั้ง 5 วัย ตั้งแต่วัยใส ยันวัยเกษียณ จะเป็นอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ

1. วัยใส วัยแห่งการเรียนรู้ (0 – 21 ปี)

วัยนี้เป็นวัยแห่งการอยู่โรงเรียน หมั่นเพียรศึกษา เรียนรู้วิชา เพื่อเตรียมตัวก่อนก้าวเข้าสู่วัยเริ่มทำงานค่ะ รายได้หลักของวัยนี้มาจากรายได้ของพ่อแม่ ซึ่งวัยนี้มีส่วนน้อยมากที่จะลงมือหารายได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากยังเรียนหนังสืออยู่ ภาระค่าใช้จ่ายยังไม่มีให้รับผิดชอบมากนัก พฤติกรรมการใช้จ่ายของวัยนี้จะจัดหนักไปกับการกิน ซื้อเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำ:
– ฝึกลงทุนด้วยการฝากเงินออมทรัพย์ หรือฝากประจำ เพิ่มผลตอบแทนด้วยดอกเบี้ย
– หารายได้เสริม เพิ่มเงินเก็บ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากพ่อแม่
– ข้อสำคัญ หมั่นออมเงิน รักษาวินัยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

2. วัยเริ่มทำงาน สร้างรายได้ (22 – 30 ปี)
เข้าสู่วัยทำงาน เริ่มมีรายได้และภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง แต่ภาระหนี้สินอาจยังไม่สูงมากนัก เริ่มมีเงินเป็นของตัวเองก็จะเริ่มมีการซื้อของตอบสนองความอยากเพื่อส่งเสริมไลฟ์สไตล์มากขึ้น วัยนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดอนาคตในภายภาคหน้าของเรา แบ่งสัดส่วนของเงินให้ดีเงินสำคัญ แต่การหาประสบการณ์ให้กับชีวิตก็สำคัญเช่นกันนะคะ เพราะฉะนั้นควรเริ่มตั้งเป้าหมายสิ่งที่ต้องทำต่อไป หากลวิธีที่จะสร้างตัวเองให้มั่นคง

สิ่งที่ควรทำ:
– บริหารรายได้ กับรายจ่ายให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต
– ขยันออมเงิน ออมเงินให้ได้ในระยะยาว
– นำเงินไปลงทุนสร้างผลตอบแทนที่งอกเงย
– หมั่นหาความรู้เรื่องการลงทุน
– หารายได้เสริมเพิ่มเติมได้ก็เป็นเรื่องดี

3. วัยสร้างครอบครัว (31 – 40 ปี)
สถานการณ์ชีวิตในตอนนี้จะมีความก้าวหน้าทางสายอาชีพ และเริ่มสร้างครอบครัว นอกจากจะมีภาระการใช้จ่ายของตัวเองแล้ว ยังต้องมีการคิดคำนวณถึงภาระค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นขณะที่มีลูก เริ่มมีการวางแผนถึงทรัพย์สินในอนาคต มีการมองหาสิ่งที่มากกว่าเดิม ใหญ่กว่าเดิม เช่น จากที่เคยอยู่คอนโดมิเนียม เปลี่ยนมามองหาบ้านเดี่ยวเพื่ออาศัยอยู่กับครอบครััว วัยนี้โอกาสในการมีภาระหนี้สินระยะยาวจะเพิ่มมากขึ้น ควรมีการหาทางออก และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยค่ะ

สิ่งที่ควรทำ:

– วางแผนสำหรับเงินที่รองรับค่าใช้จ่ายของลูกตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงเรียนจบ
– เร่งหาวิธีจัดการกับภาระหนี้สินให้หมดสิ้นก่อนเกษียณ
– ให้ความสำคัญกับประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ
– รายได้เพิ่มขึ้น ต้องมีการวางแผนภาษี
– เริ่มต้นออมเงินสำหรับใช้ชีวิตยามเกษียณได้แล้ว

4. วัยก้าวหน้า อาชีพมั่นคง (41 – 55 ปี)
หากก่อนหน้านี้มีการวางแผนการใช้ชีวิต การใช้เงินมาดีแล้ว เรื่องความมั่นคงทางการเงินก็ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีรายได้ที่สูงขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายในการเงินก็ลดลง อาจจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องการเล่าเรียนให้ลูกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นวัยที่ควรให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ และการใช้ชีวิตในวัยเกษียณมากกว่าค่ะ

สิ่งที่ควรทำ:
– เร่งเคลียร์ภาระหนี้สินให้หมดสิ้น
– ระยะเวลาในการรับรายได้น้อยลง ควรรีบวางแผนให้อยู่อย่างสบายยามเกษียณ
– ลงทุนต่อไป แต่ลดการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เลี่ยงการขาดทุน

5. วัยเกษียณ เปลี่ยนมาพักผ่อน (55 ปีขึ้นไป)
รายได้ที่จะได้รับเป็นประจำขาดหายไป จึงต้องไปอาศัยเงินบำเหน็จ บำนาญ เงินออมที่สะสมมา และผลตอบแทนจากการลงทุนตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน ด้วยอายุที่มากขึ้นก้าวขึ้นเป็นผู้สูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายเริ่มลดลง ส่วนใหญ่ที่เสียไปจะเป็นพวกค่ารักสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไป และการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหลังจากเหน็ดเหนื่อยมานาน

สิ่งที่ควรทำ:
– ยังหารายได้จากการลงทุนได้ แต่เลือกที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อรักษาเงินต้นเอาไว้
– วางแผนมรดกไว้สำหรับลูกหลานเป็นเรื่องดี
– เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย หยุดสร้างหนี้เพิ่ม

ทุกคนสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ สิ่งที่ไม่ดีในอดีต ขอแค่ให้ปล่อยมันทิ้งไป เริ่มต้นกันใหม่ตั้งแต่วันนี้ รู้สถานะทางการเงินของตนเอง หากมีปัญหาให้รีบหาแนวทางแก้ไข รู้ตัวแล้ววางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เตรียมรับมือให้เหมาะสมทุกช่วงวัย ความมั่นคงไม่ห่างไกลแน่นอนค่ะ