ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนไป การ “บริหารเงิน” ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกับหนุ่มสาว Gen Y ที่เกิดมาในยุคเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกล้อมรอบ และเติบโตมาพร้อมกับเทรนด์ดิจิทัล ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มาก ส่งผลให้พวกเขามีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายและสิ่งที่ต้องใช้จ่ายมากตามไปด้วย เป็นซะอย่างนี้คน Gen Y จะวางแผนบริหารเงินยังไงดี ให้มีความมั่นคงและมีความสุขได้ในแบบของตัวเอง?
แนวทาง บริหารเงิน สไตล์คน Gen Y
-
เพิ่มรายได้ ก็เพิ่มทางเลือก
เงินอาจจะไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งถ้าอยากมีชีวิตดี ๆ ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็น Gen Y สายทำงานประจำ มนุษย์เงินเดือน หรือทำธุรกิจส่วนตัว ก็อย่ามัวนิ่งนอนใจรับรายได้ทางเดียว เพราะถ้าเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา จะได้มีแผนสองรองรับได้ทัน แถมสมัยนี้มีช่องทางมากมายที่เราสามารถหารายได้เสริมได้ในแบบยุค 4.0 ไม่ว่าจะเป็นเปิดร้านขายของออนไลน์ รับหิ้วของ รับเขียนบทความ ขายภาพถ่ายออนไลน์ เป็นต้น มีความถนัดอะไรอย่าเก็บไว้คนเดียว เอามาเปลี่ยนเป็นเงินกันดีกว่า!
-
จะเป็นลูกหนี้ คิดดีแล้วรึยัง?
การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเงินที่กู้ยืมมานำมาใช้ในสิ่งที่เกิดประโยชน์จริง ๆ และมีกำลังพอจะรับผิดชอบภาระทั้งต้นและดอกที่จะงอกตามมาได้ แต่ถ้าคิดจะรูดบัตรเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ซื้อของแบรนด์เนม ทานอาหารราคาแพง ท่องเที่ยวเช็คอินเก๋ ๆ แบบนี้ไม่ดีแน่ หรือถ้าประเมินแล้วว่ามีแนวโน้มจะหักห้ามใจไม่ไหว อาจลองเปลี่ยนจากถือบัตรเครดิต มาเป็นบัตรเดบิตแทน เป็นการใช้จ่ายเท่าที่มี ไม่ต้องติดลบเพราะหนี้สิน
-
ออมก่อนใช้ อนาคตไม่อดอยาก
อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน การมีเงินออมเอาไว้ก็เปรียบเสมือนมียางอะไหล่ติดรถไปด้วยเมื่อเดินทางไกล แถมยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับใช้จ่ายเพื่อความมั่นคงในชีวิตอีกด้วย เช่น ซื้อบ้าน ศึกษาต่อ สร้างครอบครัว ฯลฯ หลักการออมเงินแบบง่าย ๆ ก็คือ “ออมก่อนใช้” ตั้งเป้าหมายเงินออมให้ชัดเจน เช่น 10-15% ของเงินเดือน หักเงินส่วนนั้นแยกบัญชีเก็บไว้เมื่อเงินเดือนออก เงินส่วนที่เหลือจากออมถึงนำไปใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ
-
ลงทุนให้ถูกที่ถูกทาง
ชาว Gen Y ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะมีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย ใจร้อน คาดหวังผลลัพธ์รวดเร็ว ทางที่ดีควรลงทุนตามกำลังทรัพย์และระดับรายได้ เลือกลงทุนในหลาย ๆ ช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยง และที่สำคัญคือระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ยิ่งผลตอบแทนมาก แปลว่าความเสี่ยงก็ย่อมสูงตาม ฉะนั้นอย่าพิจารณาแค่เพียงผลตอบแทนอย่างเดียว ถ้าเป็นการลงทุนที่อ้างว่าความเสี่ยงต่ำ แต่ให้กำไรสูงจนน่าแปลกใจ ดูง่ายดายจนน่าสงสัย ให้พึงระวังไว้ก่อนเลยว่าอาจจะเป็นเรื่องหลอกลวงก็เป็นได้
เคล็ดลับเหล่านี้ไม่จำกัดแค่ชาว Gen Y ไม่ว่าจะวัยไหนก็สามารถเอาไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์การเงินของตัวเองได้ ขอเพียงมองการณ์ไกล ขยันเพิ่มรายได้ ขยายฐานเงินออม หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ และรักษาประวัติเครดิตของตัวเองให้ดีเลิศ ความมั่นคงในชีวิตก็อยู่ไม่ไกลเกินฝัน