การเงินต้องรอด วางแผนการเงินให้อยู่หมัดพ้นวิกฤติแต่ละเดือน
วิกฤติหนักแค่ไหน แต่การเงินปีนี้ต้องรอด!
แต่วิธีที่จะทำให้การเงินรอดวิกฤตินอกจากจะต้องประหยัดแล้ว ต้องวางแผนการเงินด้วยค่ะ
ในช่วงนี้ถ้าหากพูดถึงเรื่องการเงิน คงจะมีอาการเจ็บจี๊ด ๆ ที่หัวใจกันอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะแค่เริ่มต้นปีมาได้ไม่นาน รายรับที่ได้มากลับร่อยหรอ เหลือใช้น้อยลงในทุกวัน แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังในการออมเงินไปค่ะ เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือนที่จะช่วยให้คุณจัดการวางแผนการเงินจนได้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ลองเริ่มเช็กลิสต์เป้าหมายของตัวเองกันตั้งแต่วันนี้ แล้วสำรวจความต้องการในอันใกล้ของตัวเองว่าต้องการประสบความสำเร็จในเรื่องใดมากที่สุด จากนั้นมาเริ่มวางแผนการเงินให้อยู่หมัดตามแต่ละไตรมาสกันค่ะ
ไตรมาสที่ 1 – มกราคม – มีนาคม
สำรวจภาระหนี้สิน และวางแผนการยื่นภาษีประจำปี
ในช่วง 3 เดือนแรกของปีควรเป็นการวางเป้าหมายการเงินของแต่ละปี และจัดสรรการเงินที่มีของตัวเองให้เข้าที่เข้าทาง เช็กลิสต์ภาระหนี้สินว่าตลอดทั้งปีจะมีรายจ่ายอะไรบ้าง และนอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาของการเตรียมพร้อมยื่นภาษีประจำปีอีกด้วย อย่าลืมเช็กตัวเองกันนะคะว่ารายได้สุทธิของเราอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องยื่นภาษี หรือจ่ายภาษีกันหรือเปล่า
ไตรมาสที่ 2 – เมษายน – มิถุนายน
วางแผนเงินออม สำรองรายจ่ายฉุกเฉิน
เมื่อเริ่มเข้าสู่ในช่วงเดือนที่ 4 หรือไตรมาสที่ 2 ควรเริ่มออมเงินสำหรับเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เท่าของรายจ่าย เพื่อใช้ในยามคับขัน หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยอาจจะนำไปเปิดเป็นบัญชีเงินฝากแยกเงินในส่วนนี้โดยเฉพาะ หรือนำไปเพิ่มมูลค่าเพื่อให้เงินเติบโตขึ้น
ไตรมาสที่ 3 – กรกฎาคม – กันยายน
วางแผนการลงทุน และเกษียณในระยะยาว
แม้ว่าช่วงอายุสำหรับบางคนอาจจะยังดูห่างไกลเกินกว่าคำว่าเกษียณอายุ แต่เราก็ไม่ควรละเลยในเรื่องนี้ไปค่ะ เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 หลังจากวางแผนเงินสำรองฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อยก็เป็นเวลาของการวางแผนการลงทุน และเกษียณอย่างจริงจังกันบ้าง นำเงินออมที่มีมาลงทุนเพื่อให้งอกเงยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลงทุนรูปแบบประกันชีวิต กองทุนรวม หุ้น ซึ่งการลงทุนทั้งหมดที่กล่าวมาควรมีการศึกษาให้ละเอียดชัดเจนก่อนการลงทุนด้วยนะคะ
ไตรมาสที่ 4 – ตุลาคม – ธันวาคม
วางแผนการลดหย่อนภาษี และสรุปการเงินภาพรวมของชีวิต
3 เดือนสุดท้ายก่อนหมดปี ควรเป็นการสรุปภาพรวมทั้งหมดของรายรับ-รายจ่ายที่เข้าออกตลอดในแต่ละปี และเป็นการตรวจสอบ วางแผนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมก่อนนำไปยื่นในรอบปีถัดไป แต่ถ้าสำหรับใครที่มั่นใจว่าตัวเองไม่ต้องยื่นภาษีอย่างแน่นอน ให้ถือว่าช่วงนี้เป็นอีกช่วงในการวางแผนการลงทุนต่อไปได้ด้วยเช่นกันค่ะ
เมื่อได้ลองเริ่มจัดการวางแผนการเงินแล้ว ประการต่อมาถือการลงมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ในแต่ละปี จะเป็นเป้าหมายเล็ก หรือใหญ่ แต่ถ้าหากมีการเริ่มลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ขอให้มั่นใจได้ว่าความสำเร็จรออยู่ไม่ไกลค่ะ