ลงทุน VS ใช้หนี้ ทางไหนคือคำตอบช่วงวิกฤติการเงิน

ลงทุน VS ใช้หนี้ ทางไหนคือคำตอบช่วงวิกฤติการเงิน

หากมีเงินสักหนึ่งก้อนจะนำไปทำอะไร?

เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีวิธีการบริหารจัดการเงินก้อนที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะนำไปใช้หนี้ทั้งหมดจนหมด บางคนอาจจะนำไปลงทุนเพื่อต่อยอดให้เงินงอกเงย ซึ่งเราจำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษา เพิ่มเติมความรู้ในการลงทุนด้วย หรือบางคนจะแบ่งเงินก้อนออกเป็น 2 ส่วน ก็คือออมเงินบางส่วน ใช้หนี้บางส่วน ซึ่งแต่ละแบบไม่ใช่เรื่องที่ถูกหรือผิด

แต่เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าทางไหนที่จะเป็นคำตอบให้กับเราในช่วงที่วิกฤติการเงินสาหัสแบบนี้ คงต้องมาดูกันว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร

หนี้ระยะสั้น หรือ หนี้ระยะยาว

ก่อนอื่นต้องดูว่าภาระหนี้ที่มีเป็นหนี้แบบระยะสั้นหรือระยะยาว ถ้าเป็นหนี้ระยะสั้น เช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้บัตรเครดิต หนี้จากการยืมคนอื่น แนะนำว่าให้นำเงินก้อนที่ได้มานำไปใช้หนี้ให้หมดเพื่อเป็นการเคลียร์ภาระหนี้สินของตัวเอง แต่หากเป็นหนี้ระยะยาว เช่น หนี้บ้าน หนี้คอนโด หนี้รถ เป็นต้น ให้แบ่งเงินเป็น 2 ส่วน เพื่อนำไปโปะหนี้ และอีกส่วนคือนำไปออมเงินเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับมา

อัตราดอกเบี้ยของหนี้สิน

นอกจากประเภทหนี้ที่ต้องสำรวจแล้ว ควรดูอัตราดอกเบี้ยด้วยว่า คุ้มค่าต่อการที่จะนำเงินก้อนไปทุ่มทั้งหมดหรือไม่

ตัวอย่างเช่น

เรามีหนี้ทั้งหมด 3 ก้อน

  1. หนี้บัตรเครดิต ยอดค้างชำระรวมทุกบัตร 50,000 บาท ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ 16-18% ต่อปี
  2. หนี้รถยนต์ ยอดหนี้คงเหลือ 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยของรถยนต์เป็นอัตราดอกเบี้ยงที่ เฉลี่ยอยู่ที่ 2-4% ต่อปี
  3. หนี้บ้าน ยอดหนี้คงเหลือ 1,200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยของบ้านอยู่ที่ 6% ต่อปี

ถามว่าทำไมเราต้องดูอัตราดอกเบี้ยของหนี้สินคงเหลือที่เรามี เพื่อที่เราจะได้คำนวณและประเมินยอดหนี้สินได้ว่า เราจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ถึงจะสามารถผ่อนได้หมด จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูง คือ บัตรเครดิต แม้ว่ายอดหนี้จะน้อยกว่าหนี้ก้อนอื่น ๆ แต่หากไม่เลือกชำระแบบเต็มจำนวน จะเกิดดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อย ๆ อย่างไม่สิ้นสุด ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำคือการนำเงินก้อนไปโปะหนี้ที่มียอดน้อยที่สุด ถ้าคงมียอดเงินคงเหลือให้นำไปโปะหนี้ก้อนลำดับถัดไป

อัตราผลตอบแทนของการลงทุน

ถ้าหากใครที่ต้องการนำเงินก้อนไปลงทุนก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยเช็กจากอัตราผลตอบแทนของการลงทุนแต่ละรูปแบบที่ต้องการลงทุนที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยเลือกลงทุนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ

ถ้าถามว่าทำไมต้องเลือกลงทุนในอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ลองคิดว่าถ้าราคาของแพงขึ้น รายจ่ายเพิ่มขึ้น แต่รายรับเราเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ แสดงว่า เราต้องมีการรัดกุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น และไม่พอผลที่ตามมานอกเหนือจากของแพง คืออัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้นตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อหลายภาคส่วนมาก

ดังนั้นเราลงทุนเราจึงจำเป็นต้องเลือกประเภทการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง และสามารถชนะเงินเฟ้อได้ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกประเภทการลงทุนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการลงทุนที่ได้อัตราผลตอบแทนสูง ๆ ต้องศึกษาข้อมูล ความรู้ให้ละเอียด เพราะหากลงทุนผิดประเภท จากที่ตั้งใจว่าจะต่อยอดเงินก้อนให้งอกเงยแล้วไปใช้หนี้ จะกลายเป็นว่าศูนย์เปล่า เริ่มนับหนึ่งใหม่ทันที

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเราจะเลือกนำเงินก้อนไปลงทุน หรือใช้หนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน ซึ่งแต่ละแนวทางไม่มีผิด ไม่มีถูก เพียงแค่เลือกทางที่เหมาะสมกับตัวเองในช่วงวิกฤติการเงินเท่านั้นเอง