บริหารความเสี่ยงแบบคนวัยเก๋า ให้ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างเป็นสุข

 

“วัยเกษียณ” ช่วงวัยที่ใครหลายคนเลยจุดที่พีคที่สุดจากการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การเงิน ชีวิต และในหลาย ๆ เรื่อง ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่อิ่มตัวจากความสำเร็จที่ได้รับมา ทำให้ถึงคราวที่เราควรจะได้ใช้ชีวิตกับตนเองในช่วงบั้นปลาย แต่สิ่งที่ตามมาพร้อมกับคนวัยนี้ คือ “ความเสี่ยง” ที่มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นตลอดทุกปี

ในช่วงวัยนี้นอกจากจะต้องบริหารความเสี่ยงด้านการเงินให้มีใช้อย่างเพียงพอแบบไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน จำเป็นต้องมีการบริหารความเสี่ยงอื่น ๆ รอบด้านเพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตไปได้ตามแบบแผนที่วางไว้อย่างเป็นสุข

 

ความเสี่ยงที่คนวัยเกษียณจะเจอมีอะไรบ้าง?

 

  1. ความเสี่ยงจากการที่มีอายุยืนกว่าช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้

โดยเฉลี่ยอายุขัยของคนเราจะอยู่ที่ราว ๆ 80 ปี ทำให้หลายคนมักวางแผนการเงินเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ที่ประมาณ 20-25 ปี นับจากที่เกษียณตอนอายุ 60 ปี แต่ก็อาจลืมนึกถึงไปว่า ถ้าเรามีชีวิตอยู่ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ล่ะ ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตหลังเกษียณอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของรายจ่ายในชีวิตประจำวัน สุขภาพร่างกาย หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงแฝงที่มีผลต่อเราแบบไม่รู้ตัว เช่น ผลกระทบจากเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นในการวางแผนการเงินควรสำรองค่าใช้จ่ายบวกเพิ่มไปอีกราว ๆ 5-10 ปี อย่างน้อย ๆ ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้เป็นมรดกให้แก่ลูกหลานได้

 

  1. ความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาล

ค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าการรักษาในแต่ละครั้งย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมา และหากบางคนที่ต้องรักษาไปตลอดชีวิตรายจ่ายก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ หากคนวัยเกษียณไม่มีการบริหารความเสี่ยงในเรื่องของค่ารักษา การเจ็บป่วย เช่น การซื้อประกันสุขภาพเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษา เป็นต้น

 

  1. ความเสี่ยงจากการได้รับผลตอบแทนการลงทุน

บางคนเมื่อเกษียณแล้วก็ยังหวังที่จะได้รับผลตอบแทน หรือกำไรจากที่ได้ลงทุนไป แต่ก็อย่าลืมว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นลง ตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากวันใดวันหนึ่งจำนวนเงินที่ลงทุนไปขาดทุน ผลกระทบที่จะตามมาคือ เราเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างแน่นอน และอาจทำให้แผนเกษียณที่ตั้งใจไว้ อาจไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นหากเราต้องการสร้าง Passive Income จากการลงทุน ควรมีการบริหารพอร์ตและแบ่งสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินในอนาคต

 

  1. ความเสี่ยงจากความไม่คาดฝันจากครอบครัว

เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว คู่รัก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสีย อุบัติเหตุ โรคภัย ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ต้องรับมือกับการเงินที่นอกเหนือจากที่วางแผนเอาไว้ ดังนั้นการบริหารการเงินควรสำรองรายจ่ายในส่วนนี้เผื่อไว้ เพื่อซัพพอร์ตครอบครัวเพิ่มเติมในอนาคตด้วย

 

  1. ความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ

เช่น สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในวัยหลังเกษียณ มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวเราจนกลายเป็นความเสี่ยงที่จะต้องมารับมือในวัยเกษียณ หรือแม้แต่การเลือกจังหวะช่วงเวลาเกษียณแบบผิดเวลา ฉะนั้นก่อนที่คิดจะตัดสินใจเกษียณแล้วควรวางแผนและบริหารเวลาที่เหมาะสมกับตนเอง พร้อมศึกษารายละเอียดสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันสังคม เงินบำนาญ ที่จะได้รับในช่วงหลังเกษียณด้วย

ไม่ว่าจะช่วงวัยไหนต่างก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าเราจะมีการวางแผนเตรียมพร้อมมาอย่างดีแค่ไหน แต่สิ่งที่ต้องมีคือวิธีการรับมือกับความเสี่ยงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น หากมีการรับมือไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้