คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “คนเคยค้าง ค้างจนเขาเอาบัญชีที่เรามีอยู่กับเขาไปขาย เราก็เจรจาจนชำระหมด ปัจจุบันมั่นคงพอสมควร ต้องการโอกาส” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 20 พฤศจิกายน 2563

คนเคยค้าง ค้างจนเขาเอาบัญชีที่เรามีอยู่กับเขาไปขาย เราก็เจรจาจนชำระหมด ปัจจุบันมั่นคงพอสมควร ต้องการโอกาส

เรื่องของเครดิตบูโรวันนี้ที่ผมอยากนำเสนอแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านให้ได้ทราบ แม้เป็นเรื่องทางเทคนิคไปบ้างแต่ก็เป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ อาจจะประสบกับตัวเองได้ เพื่อให้ได้เกิดความเข้าใจโดยทั่วกัน เรื่องมีดังนี้คือ

1.  คำถามและข้อเท็จจริงจากตัวเจ้าของข้อมูล : ดิฉันเคยมีหนี้สินเชื่อบัญชีหนึ่งกับธนาคาร ต่อมาหมุนเงินไม่ทันเกิดการค้างชำระขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ไม่มีการติดต่อกับธนาคารใดๆ เลย เรียกว่าไม่จ่ายหนี้ที่มีอยู่ ธนาคารได้ขายหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อรายการนี้ของดิฉันรวมอยู่ด้วยออกไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งหนึ่งหรือที่ธนาคารมักเรียกว่า “ขายหนี้ออกไปให้กับ AMC” นั่นเอง เมื่อดิฉันได้รับการติดต่อจาก AMC ในเรื่องหนี้ที่ค้างอยู่และทำการเจรจาการชำระหนี้ จนที่สุดทาง AMC ก็ลดหนี้ให้ส่วนหนึ่ง ดิฉันพอจะมีเงินรวบรวมมาได้จึงตัดสินใจชำระหนี้กับ AMC ในบัญชีของดิฉันที่เขาได้ซื้อมาจากธนาคารเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ดิฉันได้เอกสารการรับชำระและเอกสารการปิดบัญชีจาก AMC และยังเก็บเอกสารการโอนเงินที่ตัวเองโอนให้กับ AMC รายนั้นไว้อยู่จนทุกวันนี้
ต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 ดิฉันไปขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง ผลออกมาว่าปฏิเสธการให้สินเชื่อ และได้รับแจ้งว่าเหตุเพราะในรายงานเครดิตบูโรของดิฉันในบัญชีที่ดิฉันเคยมีกับธนาคารนั้นมีสถานะบัญชี “แสดงรหัสว่า 42 โอนหรือขายหนี้ให้กับนิติบุคคลอื่นหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์” ประกอบกับในประวัติการชำระหนี้ของบัญชีนั้นช่วงเวลาก่อนหน้าเดือนที่มีการโอนขายหนี้นั้นได้แสดงรายการค้างชำระหนี้เกินกว่า 300 วัน ดิฉันต้องทำอย่างไร ต้องชี้แจงกับธนาคารของรัฐนั้นอย่างไร เขาจึงจะเข้าใจเรื่องที่แท้จริงและอยากให้เขาช่วยพิจารณาสินเชื่อบ้านอีกครั้ง อยากให้ธนาคารเข้าใจว่าตัวเองได้กลับเนื้อกลับตัวแล้ว ปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือนเกือบ 40,000 บาท ไม่มีหนี้ที่ไหนแล้ว อยากได้โอกาสอีกครั้ง

2.   ผมวิเคราะห์ได้เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
2.1    ลักษณะที่เกิดเรียกว่า เป็นคนเคยค้าง มีประวัติค้างชำระหนี้ และได้ผ่านการเป็นลูกหนี้ NPL เพราะค้างเกิน 3 งวดติดกัน
2.2    บัญชีสินเชื่อนี้ถูกขายออกจากธนาคารไป AMC เรียกว่า ขายหนี้เสียให้กับ AMC ไปบริหาร
2.3    ตอนขายออกไป ยอดหนี้ในบัญชีจะแสดงตัวเลขเป็นศูนย์ เหมือนกับว่า AMC ได้มาจ่ายหนี้ให้แทน ซึ่งในความเป็นจริงหนี้ที่มีอยู่ 100 บาท AMC อาจซื้อไป 50 บาท ก็ได้ แต่สุดท้ายคือหนี้ที่มีอยู่เป็นศูนย์
2.4    ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีสินเชื่อนี้ในเดือนที่ขายออกไปโดยมีสถานะบัญชี “แสดงรหัสว่า 42 โอนหรือขายหนี้ให้กับนิติบุคคลอื่นหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริง
2.5    ธนาคารของรัฐที่ไปยื่นขอสินเชื่อเขาเข้ามาดูข้อมูลเห็นว่าคุณผู้หญิงเคยเป็นหนี้เสียแล้วถูกขายออกไป ไม่รู้ว่าชำระแล้วหรือยัง เขาก็อาจกลัวว่าจะเอาเงินกู้จากธนาคารของรัฐที่ยื่นขอไปชำระหนี้ให้กับ AMC ก็ได้เพราะตัวธนาคารไม่รู้ว่ามีรายการเจรจาชำระหนี้กันกับ AMC นั้นอย่างไร เขาไม่เห็นเอกสารใดๆ ประกอบเลยจากฝั่งของคนที่ยื่นขอกู้

3.       สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อขอให้ธนาคารของรัฐพิจารณาเพิ่มเติม คือ
3.1    คุณผู้หญิงมายื่นคำขอตรวจข้อมูลเครดิตบูโรของตนเองเพื่อให้เห็นจะๆ ว่าประวัติที่แสดงเป็นอย่างไร
3.2    เอาเอกสารการชำระหนี้กับ AMC ไปแสดงประกอบว่าบัญชีที่เคยมีกับธนาคารและได้มีการขายออกไปนั้นจบแล้ว เคลียร์แล้ว ปิดบัญชีหมดแล้ว ไม่มีประเด็นค้างใดๆ อีกแล้ว
3.3    อธิบายและเล่าให้เขาฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ที่ไปค้างชำระในอดีตนั้นเป็นเพราะอะไร อันนี้สำคัญอย่าโกหกเด็ดขาด
3.4    แสดงรายได้ แสดงเงินฝาก ให้เห็นว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีฐานะความมั่นคงแล้ว
เมื่อได้ดำเนินการอย่างนี้ไปทั้งหมดแล้วครบถ้วน ที่เหลือก็เป็นเรื่องกระบวนการพิจารณาเงินกู้ครับ

เราไปแก้ไขข้อมูลข้อเท็จจริงในอดีตที่อาจจะพลาดหลงให้ผิดไปจากความจริงที่ว่า เราเป็นคนเคยค้าง ค้างจนเขาเอาบัญชีที่เรามีอยู่กับเขาไปขาย เราก็เจรจาจนชำระหมด ปัจจุบันมั่นคงพอสมควร ต้องการโอกาส ขอให้พิจารณา และลึกๆ ผมก็เข้าใจว่าเมื่อไปเป็นหนี้ใคร ก็ต้องใช้หนี้ ไม่มีใครมีความสุขหากยังมีหนี้คาใจดังข้างต้น….สัญญาต้องเป็นสัญญาครับ