คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “เชื่อเพื่อนจนทำผิด โดยขอกู้แทนมิตร สุดท้ายเครดิตจึงต้องพังง” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 6 พฤศจิกายน 2563

เชื่อเพื่อนจนทำผิด โดยขอกู้แทนมิตร สุดท้ายเครดิตจึงต้องพัง

บทความวันนี้ผมขอนำเสนอข้อมูลจากที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงและก็เป็นอะไรที่เกิดอยู่เป็นจำนวนพอประมาณความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจาก “หนี้สินที่คนอื่นมายืมชื่อของตัวเราเองไปก่อเอาไว้แล้วไม่ยอมใช้หนี้ ท้ายสุดตัวเราเองคือคนที่ต้องมานั่งเสียเงิน เสียใจ เสียความรู้สึก และเสียเพื่อนในท้ายที่สุด” เราลองมาฟังคำถามของท่านที่เดือดร้อนนี้ที่ติดต่อมาที่เครดิตบูโรดังนี้ครับ

….ดิฉันเคยผ่อนมอเตอร์ไซต์ให้เพื่อนผ่านบัตรเครดิตและเข้าใจว่าเพื่อนจ่ายหมดแล้ว เพราะเวลาถามไปก็จะบอกว่าเคลียร์แล้ว ไม่เคยเอะใจหรือขอดูเอกสารยืนยันการชำระหนี้ เพราะเชื่อใจเพื่อนมาก แต่เมื่อสองเดือนที่แล้ว  ดิฉันได้รับจดหมายทวงหนี้จากบริษัทติดตามหนี้สินที่ได้แจ้งว่าซื้อหนี้มาจากบริษัทบัตรเครดิตในบัญชีที่เป็นการผ่อนมอเตอร์ไซต์นั้น ยอดหนี้ไม่กี่พันบาท ดิฉันจึงสอบถามเพื่อน ปรากฏความจริงว่าที่เคยบอกว่าจ่ายหมดไปแล้วนั้นคือ “คำโกหก” และเมื่อเร็วๆ นี้ ดิฉันได้ลองไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง “พบว่าในรายงานเครดิตบูโรนั้นมีประวัติบอกสถานะบัญชี 42 คือ โอนหรือขายหนี้ ยอดหนี้เป็นศูนย์” อยากทราบว่าที่บริษัทติดตามหนี้สินที่ซื้อหนี้ของดิฉันมาบริหาร และมีหนังสือแจ้งทวงมานั้น ดิฉันไม่จ่ายได้หรือไม่ เพราะเพื่อนก็ไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น ตอนนี้ดิฉันติดต่อเพื่อนไม่ได้แล้วด้วย

ประเด็นสำคัญที่ควรหยิบมาพิจารณาและดำเนินการให้ถูกต้อง คือ
1. ตอนนี้ท่านผู้อ่านเชื่อหรือยังว่า จิตมนุษย์นี้ไซ้ ยากแท้ หยั่งถึง สังคมไทยเป็นอะไรที่เกรงใจคำขอมากที่สุดโดยเฉพาะคำขอที่มักจะย้ำตามมาว่า “ไม่เชื่อใจเพื่อนหรืออย่างไร” หรือ “ทำไมเรื่องแค่นี้เพื่อนจะช่วยเพื่อนไม่ได้”
2. ตอนนี้ทุกท่านควรทราบอย่างยิ่งว่า ประวัติความน่าเชื่อถือของเราในเรื่องการเงิน เรื่องหนี้สินไปขึ้นกับพฤติกรรมของคนอื่นนั้น มันมีความเสี่ยงขนาดไหน ท่านต้องไม่ทำโดยเด็ดขาด ไม่ว่าฟ้าจะถล่มแค่ไหนก็ต้องไม่ให้ใครเขามาเอาชื่อของเราไปใช้ในเรื่องแบบนี้
3. ไม่มีใครรู้ว่าท่านกู้แทนกันหรือไม่นะครับ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเป็นหนี้แทนคนอื่นแล้วเกิดปัญหา เจ้าหนี้ไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นการกู้แทนกันเพราะไม่มีใครแจ้งความจริง จนกระทั่งเรื่องแดงขึ้นมาว่าคนที่ไปขอกู้ (ที่ให้เพื่อนยืมชื่อ) เจอหนังสือทวงถามเอาเต็มๆ ดังนั้นใครที่กำลังจะเป็นหนี้แทนคนอื่น ขอให้คิดให้รอบคอบ คิดหลายๆ รอบ
4. ที่บริษัทบัตรเครดิตต้องขายหนี้ออกไปเพราะมันตามยาก จำนวนน้อย ไม่คุ้มกับการติดตาม หรือการดำเนินการทางกฎหมาย เขาจึงขายออกไปให้กับคนที่จะเอาไปทวงถามต่อและคิดว่าจะติดตามให้มีการนำเงินมาชำระได้ พูดง่ายๆ เขาถนัดและเชี่ยวชาญการตามหนี้กว่าบริษัทบัตรเครดิตนั่นเอง
5. สถานะของบัญชีระบุว่า 42 คือ โอนหรือขายหนี้ ก็ตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีการขายหนี้จากฝั่งบริษัทบัตรเครดิตไปยังบริษัทติดตามหนี้สิน เลขสี่สิบสองเป็นเพียงการระบุ Code เท่านั้น

6. ที่ระบุว่ายอดหนี้เป็นศูนย์ หมายความว่า บริษัทบัตรเครดิตได้รับเงินจากการขายหนี้ออกไปแล้ว เงินที่ชำระไม่ได้มาจากลูกหนี้แต่มาจากบริษัทติดตามหนี้สินที่ชำระหนี้บัญชีเป็นค่าซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ดังนั้นบริษัทบัตรเครดิตจึงไม่ได้เป็นเจ้าหนี้อีกต่อไป ยอดหนี้จึงเป็นศูนย์ ประกอบกับสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีเดิมได้โอนย้ายจากบริษัทบัตรเครดิตมายังบริษัทติดตามหนี้สิน ลูกหนี้ที่ปรากฏชื่อในสัญญาที่แม้ไม่ใช่เจ้าของบัญชีตัวจริง (เพราะมีการยืมชื่อไปก่อหนี้) ก็ต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้น จะไปเหมาแบบมั่วๆ เข้าข้างตัวเองว่าเพราะมียอดหนี้เป็นศูนย์แล้วจะไม่จ่ายไม่ได้ครับ
7. เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา ไปทำไว้อย่างไรก็ต้องรับผิดชอบไปตามนั้น เมื่อยังไม่มีการชำระหนี้ที่ค้างไว้ก็ยังไม่มีการปิดบัญชี
8. แนะนำให้เจรจากับบริษัทติดตามหนี้สินเพื่อชำระหนี้ที่ค้างและปิดบัญชีอย่างสมบูรณ์เพื่อจบปัญหา และเมื่อมีการชำระหนี้ปิดบัญชีกับบริษัทติดตามหนี้สินแล้ว ให้นำใบเสร็จรับเงินที่เขาออกให้ มาเป็นหลักฐานการยื่นขอสินเชื่อใหม่กับสถาบันการเงินที่มีโครงการจะขอสินเชื่อ สถาบันการเงินที่จะพิจารณาจะได้เห็นข้อมูลในส่วนที่ดี ว่ามีการชำระหนี้ที่ค้างไปแล้วสมบูรณ์ สถาบันการเงินนั้นอาจพิจารณาสินเชื่อให้ตามคำขอก็ได้ ทั้งนี้ เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใครครับ
9. ท่านควรเลิกคบเพื่อนคนนี้หรือไม่ ท่านควรแจ้งเพื่อนฝูงหรือไม่ว่า คนที่ทำให้เราเดือดร้อนรายนี้เพื่อนๆ ที่เหลือควรเลิกคบหรือไม่ ท่านจะนิ่งเฉยเสมือนเป็นการส่งเสริมให้เขาคนนั้นไปคิดทำแบบนี้กับคนอื่นอีกมากมายหรือไม่…ผมว่าท่านมีคำตอบแล้ว