เคล็ดลับเปลี่ยนนิสัย ให้เป็นสุดยอดนักบริหารเงิน

ทำงานมาก็ตั้งนาน แต่เงินเก็บยังไปไม่ถึงไหน เพราะชอบเผลอไผลจ่ายเกินงบอยู่เรื่อย แบบนี้จะทำไงดีนะ! มาดูกันว่าเราจะเปลี่ยนนิสัยตัวเองยังไง ให้กลายเป็นคนรักการออม รับรองว่ามีเงินเก็บเยอะสมใจแน่ ๆ

• เปลี่ยน “ใช้ก่อนออม” เป็น “ออมก่อนใช้”
แต่ก่อนเรามักติดภาพว่าเงินออมคือเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย นั่นเท่ากับว่าถ้าเราใช้จนหมด ก็จะไม่เหลือเงินไว้ออมเลย คราวนี้ลองมาเปลี่ยนความคิดกันใหม่เป็น “ออมก่อนใช้” กันบ้างดีกว่า เพียงตั้งเป้าหมายเงินออมในแต่ละเดือนเอาไว้ พอเงินเดือนออกก็หักส่วนที่ต้องการจะออมแยกบัญชีเก็บไว้ทันที แล้วเงินที่เหลือจากนั้นค่อยนำไปใช้จ่าย ทำแบบนี้รับรองว่าไม่พลาดโอกาสออมแน่ ๆ

• “การกู้ยืม” คือการยืมเงินในอนาคตมาใช้
ลองนึกภาพว่าถ้าคุณสามารถเลือกทานมื้อเย็นได้มากเป็น 2 เท่า แต่ต้องอดมื้อเช้าของวันถัดไป คุณจะโอเคไหม? การรูดบัตรเครดิตก็เช่นกัน แม้ว่าวันนี้คุณจะสามารถรูดใช้จ่ายได้อย่างสะดวกสบายมือ แต่แท้จริงแล้วมันคือการเอาเงินของวันพรุ่งนี้มาใช้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องใช้คืน ถ้าเผลอรูดมากไป หรือเกิดเหตุไม่ขาดฝันทำให้ขาดรายได้ ก็เท่ากับว่าคุณอาจต้องยอมอดเพื่อใช้หนี้ รู้อย่างนี้แล้ว ถามใจให้ดีว่ามีความรับผิดชอบพอไหม และพร้อมแค่ไหนที่จะรับความเสี่ยงตรงนี้

• รู้จักแยกแยะ “หนี้ดี” กับ “หนี้พึงระวัง”
“หนี้” ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป เพราะถ้าเงินที่กู้ยืมมาสามารถเอามาต่อยอดสร้างกำไร สร้างความมั่นคง หรือสร้างอนาคต เรียกได้ว่าเป็น “หนี้ดี” เช่น เอามาลงทุนในธุรกิจ ซื้อบ้าน เป็นทุนศึกษาต่อ เป็นต้น แต่ถ้าเรากู้มาเพื่อเอาไปใช้กับของฟุ่มเฟือย ความสุขระยะสั้น เกินฐานะ ใช้แล้วหมดไป นี่เรียกว่า “หนี้พึงระวัง” เช่น ซื้อรถหรู ทานอาหารมื้อหรู ซื้อสินค้าแบรนด์เนม เที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น รู้อย่างนี้แล้วก่อนตัดสินใจเป็นลูกหนี้ ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเป็นหนี้ประเภทไหน ถ้าเป็นแบบหลังล่ะก็ แนะนำว่ายั้งมือไว้ก่อนจะดีกว่า

• อย่าวางใจกับรายได้ทางเดียว
แม้ว่าคุณจะมีงานประจำที่มั่นคง หรือธุรกิจที่ดูไปได้สวย ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจกับการพึ่งพารายได้ทางเดียว เพราะในอนาคตอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ควรมองหาลู่ทางสร้างรายได้เสริม โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลแบบนี้ เราสามารถเปลี่ยนความถนัดเป็นเงินได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขายของออนไลน์ รับหิ้วสินค้า รับจ้างเขียนบทความ ขายภาพถ่ายออนไลน์ รับแปลเอกสาร เป็นต้น

• “ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง” ไม่มีอยู่จริง
กฎข้อสำคัญของการลงทุนใด ๆ ในโลกนี้ ก็คือ “ผลตอบแทนแปรผันตรงกับความเสี่ยงเสมอ” เช่น การลงทุนในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารได้ผลตอบแทนน้อยก็เพราะความเสี่ยงน้อย การลงทุนในสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ผลตอบแทนมหาศาลก็เพราะความเสี่ยงมหาศาลนั่นเอง หากมีใครหรือหน่วยงานไหนอ้างว่ามีช่องทางการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนสูง ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าไม่ชอบมาพากล อาจเป็นการหลอกลวง

เพียงท่อง 5 ข้อนี้เอาไว้ในใจ และเตือนตัวเองทุกครั้งก่อนตัดสินใจเรื่องการเงิน คุณสามารถมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงได้ไม่ยากเลย