การเงินจะดีต้องรู้จักบริหาร รู้เทคนิคการบริหารเพื่อฟิตสุขภาพการเงินที่ดีกันเถอะ

การเงินจะดีต้องรู้จักบริหาร รู้เทคนิคการบริหารเพื่อฟิตสุขภาพการเงินที่ดีกันเถอะ

แน่ใจหรือเปล่าว่ารายรับที่มากกว่ารายจ่าย…แปลว่ามีสุขภาพการเงินที่ดี ?

เพราะจริง ๆ แล้วการที่จะเช็กว่าคนนั้นคนนี้มีสุขภาพการเงินที่ดีหรือไม่ คงไม่ใช่แค่เรื่องของการที่มีรายรับเข้ามามากกว่ารายได้ในแต่ละเดือน แต่ต้องมองให้ลึกลงไปถึงเรื่องของวิธีการบริหารเงินของแต่ละคนด้วยว่า เขามีวิธีการบริหารเงินอย่างไรถึงสามารถจัดสรรรายรับ และรายจ่ายได้อย่างเหมาะสม และมีเงินเก็บออมเพียงพอต่อการใช้ในอนาคต หรือยามลำบากหรือไม่

ดังนั้นในช่วงวิกฤติแบบนี้ เราจึงอยากให้ทุกคน มาทำความเข้าใจวิธีการบริหารเงินที่ดีว่าควรมีวิธีการทำอย่างไร เพื่อที่จะสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม และมีสุขภาพการเงินที่ดีค่ะ

– สร้างเป้าหมายทางการเงิน

การตั้งเป้าหมายอะไรขึ้นมาสักอย่างจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้ในทางหนึ่ง เช่น หากเราต้องการเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท ภายใน 7 ปี ในช่วงระยะเวลา 7 ปีนั้นเราก็จะมีวิธีการบริหารการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ

– ประเมินรายรับ และรายจ่ายทุกเดือน

การประเมินจะช่วยให้เรารู้ลิมิตในการบริหาร จัดสรรรายรับ รายจ่ายได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีรายได้เพียงทางเดียว หรือมีรายได้ไม่แน่นอน การประเมินในทุก ๆ เดือน จะช่วยให้เราสามารถบริหารได้อย่างพอดี

– แบ่งรายจ่ายในสัดส่วนที่เหมาะสม

ในแต่ละเดือนจะมีรายจ่ายจำเป็นที่ต้องจ่ายแน่นอนอยู่แล้ว โดยเราจะต้องจัดสรรแยกออกมา และส่วนรายจ่ายอื่น ๆ ที่ผันแปรตามสถานการณ์ ให้ลองคำนวณคร่าว ๆ โดยสำรองฉุกเฉินในสัดส่วนที่พอดี เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายในแต่ละเดือนรัดตึงจนเกินไป

– มีเงินเก็บออมสม่ำเสมอ

สุขภาพการเงินที่ดีคือการที่มีเงินออมเหลือเก็บ เพียงพอไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และยาวไปถึงอนาคตอีก 10 20 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่จะมีเงินมาเก็บออมก็ต้องรู้จักการบริหารเงินที่ดีเช่นกัน

– ไม่ก่อหนี้สินที่ไม่จำเป็น

หนี้มีอยู่ 2 ประเภทคือ หนี้ดี และหนี้ไม่ดี ซึ่งการที่เราจะก่อหนี้ขึ้นมาต้องมองภาพรวมปัจจัยอื่น ๆ ความสามารถในการชำระหนี้ และเช็กว่าหนี้ที่เรากำลังจะก่อเป็นหนี้ประเภทใด

–  เปลี่ยนจากการพักเงินเป็นให้เงินทำงาน

บางครั้งการออมเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจจะต้องมีการศึกษาวางแผนการเงินในรูปแบบการลงทุนอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ติดตามสถานการณ์การเงิน ข่าวเศรษฐกิจในช่วงนั้น ๆ เพื่อพร้อมรับมือและไม่ตัดสินใจพลาด

– รู้จักกระจายความเสี่ยง

เมื่อศึกษาการลงทุนเราก็ต้องรู้จักที่จะบริหารการเงินให้ได้อย่างเหมาะสม โดยนำเงินมาลงทุนในแต่ละรูปแบบในผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ประเมินจากระดับความเสี่ยงที่รับได้ ระยะเวลาที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินในช่วงนั้น ๆ เพื่อที่จะสามารถบริหารการเงินของเราให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น

หากเรารู้จักการบริหารเงินที่ดีแล้ว การที่จะมีสุขภาพการเงินที่ดีก็ไม่ไกลเกินเอื้อม ลองหมั่นสร้างวินัยทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟิตสุขภาพการเงินกันนะคะ