จัดสรรเงินอย่างไรให้พอใช้จนถึงสิ้นเดือน (แถมมีเงินเก็บ)

เมื่อเงินเดือนออกแล้ว สิ่งแรกที่ทำหลายคนคงกดเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ จนเมื่อจ่ายครบจบแล้ว คุณอาจต้องตกใจว่า เอ๊ะ! เหลือเท่านี้จะพอใช้ถึงสิ้นเดือนหรือไม่ วันนี้เราจึงนำเคล็ดไม่ลับใช้เงินให้ชนเดือนมาฝากกัน นอกจากจะมีใช้ถึงสิ้นเดือนแล้ว ยังมีเหลือเก็บด้วย

ข้อแรกที่ต้องทำเลยคือ แบ่งเงินให้เป็นสัดเป็นส่วน

การแบ่งเงินเป็นสัดส่วน จะช่วยให้เราคำนวณการใช้เงินและวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น หากเรามีเงินเดือน 20,000 บาท เราแบ่งเงินเก็บเลย 10% เป็นเงิน 2,000 บาท เป็นเงินเก็บ แล้วแบ่งว่าจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าหอ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าซื้อของใช้ส่วนตัว เท่าไหร่ ใช้ในชีวิตประจำวันกี่บาท เหลือใช้จ่ายเพื่อการอย่างอื่นอีกกี่บาท เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นหลักการที่ง่ายมากแต่ก็ต้องมีวินัยมาก ๆ เช่นกัน

ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าที่ทำได้

ถ้าระยะทางใกล้ ๆ เช่น จากที่ทำงานออกมาป้ายรถเมล์ หรือลงจากรถแล้วเข้าซอยบ้าน หรือใครที่นั่งแท็กซี่เป็นประจำจากที่เคยนั่งวินมอเตอร์ไซค์เป็นประจำ ลองเปลี่ยนมาเป็นเดินเรื่อย ๆ ดูบรรยากาศ 2 ข้างทาง ถือโอกาสสำรวจเส้นทาง ร้านอาหารอร่อย ๆ หรือออกกำลังกายไปในตัว ประหยัดเงินค่าวินมอเตอร์ไซค์ ยิ่งถ้าเดินให้ถูกวิธี เผาผลาญแคลอรี่ไปได้เยอะมากเลยทีเดียว แต่ถ้าใครกลัวช้าก็แนะนำให้ตื่นเช้าหน่อยรับอากาศดี ๆ ในตอนเช้า ก็จะเหลือเวลาให้เราได้เดินทางอย่างสะดวกและมีทางเลือกแถมประหยัดมากขึ้นด้วย

ชอปปิงให้น้อยลง เน้นของ SALE ให้มากขึ้น

การชอปปิงเป็นเรื่องปกติของคนทำงาน เมื่อทำงานมาหนักก็อยากให้รางวัลตัวเอง ซื้อความสุขให้ตัวเอง หลายคนก็เลยติดการเสพความสุขทานของดี ของแพง ชอปปิง ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินไม่พอใช้จนถึงสิ้นเดือน ดังนั้นการจำกัดการใช้เงิน อาจทำได้โดยการทำบันทึกรายจ่าย การตั้งวงเงินในการใช้เงินเพื่อความสุข จะได้ใช้เงินอย่างสบายใจได้ตลอดจนถึงสิ้นเดือน

ปัจจัยอีกข้อคือพยายามซื้อของลดราคา สินค้าหรือบริการที่กำลังจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม เพื่อจะได้ประหยัดมากขึ้นแถมยังได้ของแถมกลับมาด้วย หรือมิเช่นนั้นก็จดรายการของที่จำเป็นต้องซื้อจำพวกสบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และของใช้ส่วนตัวเอาไว้ เวลาจะซื้อสินค้าลองเดินสำรวจราคาในตลาดเปรียบเทียบคุณภาพ ปริมาณ และราคาก่อนตัดสินใจซึ่ง คุณจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายราคาเต็ม ส่วนลดเล็กน้อยเหล่านั้นพอมารวมกันคุณก็จะมีเงินเก็บเพิ่มอีกโขเลย เคล็ดลับในการหาโปรโมชั่นเดี๋ยวนี้ง่ายมาก เพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟนเข้าโซเชียลมีเดีย ติดตามเพจข่าวสารโปรโมชั่นต่าง ๆ คุณก็จะไม่พลาดโปรโมชั่นเด็ดแน่นอน

จัดสรรเงินอย่างไรให้พอใช้จนถึงสิ้นเดือน (แถมมีเงินเก็บ)

เก็บเงินออมอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อเรามีเงินออมเก็บเรื่อย ๆ ก็จะเป็นเงินก้อนที่เป็นทุนสำรองสำหรับอนาคตได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถทำให้เงินก้อนนั้นมีประสิทธิภาพขึ้นมาได้ หรือการแบ่งออมเงินเพื่อกิจกรรมที่มีประโยชน์ หรือเพื่อให้รางวัลชีวิต เช่น การออมเพื่อการท่องเที่ยว การแบ่งเงินเพื่อการเลี้ยงดูและการศึกษาบุตร เป็นต้น เรามาดูการแบ่งเงินออมหลัก ๆ ที่เราควรรู้กัน

  • เงินออมระยะยาว ได้แก่เงินที่ต้องการไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือไว้ใช้ในยามเกษียณ คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งก็คือเงินที่แบ่งไว้หรือกันไว้ก่อนใช้เมื่อเงินเดือนออกนั่นเอง
  • เงินสำหรับการลงทุน ได้แก่ เงินที่จะนำไปลงทุนต่อยอดไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ธุรกิจเสริมขนาดเล็ก สลากออมสิน กองทุนต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการลงทุนกับสลากกินแบ่งรัฐบาลก็สามารถใช้ได้คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด ควรเป็นเงินอีกก้อนที่แบ่งไว้ต่างหากเพื่อการเหล่านี้โดยเฉพาะ
  • เงินสำหรับให้รางวัลตัวเอง เงินในส่วนนี้ใช้เพื่อเป็นรางวัลให้กับตัวเราเองที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งเดือน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อโทรศัพท์ใหม่ ออกไปปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ควรเป็นเงินอีกก้อนที่แบ่งไว้ต่างหากเพื่อการเหล่านี้โดยเฉพาะเช่นเดียวกับเงินด้านบน
  • เงินออมสำหรับการท่องเที่ยว เมื่อเรารู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยว ก็จะต้องเริ่มเก็บเงิน ตั้งแพลนในใจไว้ว่าปะนี้จะไปไหนบ้าง แต่ละทริปไปกี่คน รวมค่าใช้จ่ายคนละ ประมาณเท่าไร ลองนั่งคำนวณว่า แต่ละเดือนควรเก็บเงินเท่าไหร่ โดยไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากเกินไป พร้อมทั้งปรับลดรายจ่ายบางอย่างเพื่อให้เรามีเงินออมไปเที่ยวได้รวดเร็วขึ้น หัวใจสำคัญ คือ แยกเงินท่องเที่ยวไว้ต่างหาก เพื่อจะได้ไม่ปะปนกับเงินส่วนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการสับสน แล้วเผลอหยิบเงินออกมาใช้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างและแนวทางเบื้องต้นที่จะให้ทุกคนใช้เงินได้อย่างสบาย ๆ และมีเหลือเก็บ เหลือใช้ แค่เพียงเรามีวินัยทำตามสิ่งนี้ให้ลุล่วง ชีวิตเราก็จะอยู่ดีกินดี ไม่มีความเครียดเพราะเงินไม่พอใช้ มีความสบายทั้งกายและใจทีเดียว

ขอบคุณที่มาจาก PostToday และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
https://www.posttoday.com/finance/money/554938
https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/7-tips-to-keep-large-sum-every-month.html