4 นิสัยเสี่ยงการเงิน ไม่จัดการให้ดี ระวังล้มเหลวทางการเงินตั้งแต่ต้นปี

ความเสี่ยงทางการเงินเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็พบเจอได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ หรือเกิดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝัน แต่ไม่ว่าจะเกิดด้วยสาเหตุหรือปัจจัยใดก็ตาม ก็ควรมีการจัดการที่ดีซึ่งนั่นก็ต้องเริ่มมาจากการปรับวินัยทางการเงินของตนเองค่ะ มาลองสำรวจนิสัยของคุณค่ะ ว่ากำลังมีนิสัยเสี่ยงที่จะล้มเหลวทางการเงินอยู่หรือเปล่า

– ไม่ทำ To-do list

การทำ To-do list จะเข้ามาช่วยในการจัดระเบียบชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการเงินที่ช่วยให้เรามีการวางแผนการเงินอย่างเป็นระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน มองเห็นภาพรวมในแต่ละเดือนได้ว่าจะนำเงินไปใช้กับอะไร  ซึ่งหากเราไม่มีการจัดระเบียบทางการเงินที่ดี ความเสี่ยงในการล้มเหลวทางการเงินก็อาจมาเยือนตั้งแต่ต้นปีได้ค่ะ

– ไม่รู้จักวางแผนรายรับ-รายจ่าย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ใครต่อใครหลายคนล้มเหลวทางการเงินมานักต่อนัก นั่นคือการไม่ยอมทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เมื่อได้เงินมาเท่าไหร่ก็ใช้หมดไปโดยไม่มีเงินเก็บฉุกเฉินในแต่ละเดือน และการที่เรามองไม่เห็นภาพรวมของรายรับ-รายจ่ายของเราก็นับเป็นสาเหตุที่ทำให้การเงินของคุณล้มเหลวได้ค่ะ

– ไม่บริหารการเงิน และกระจายความเสี่ยงการลงทุน

เงินฉุกเฉิน เงินออมระยะยาว เงินใช้ยามเกษียณ ถือเป็นเงินก้อนใหญ่ในระดับหนึ่งซึ่งการที่เราจะมีเงินก้อนนั้นต้องเกิดจากการที่เราเริ่มลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมา และนำผลตอบแทนเหล่านั้นไปต่อยอดอีกเรื่อย ๆ ในระยะยาว ซึ่งหากเราไม่คิดสนใจที่จะลงทุน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเข้าสู่วัยเกษียณอาจไม่มีเงินก้อนเหล่านั้นมาใช้ได้นั่นเองค่ะ

– ไม่สนใจเรื่องเงินเฟ้อ

ในอดีต เงิน 100 บาท สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 10 ชาม

แต่ปัจจุบัน เงิน 100 บาท กลับซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เพียง 2 ชาม

สาเหตุดังกล่าวนั้นเกิดจากภาวะเงินเฟ้อนั่นเองค่ะ ซึ่งเงินเฟ้อเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ของใช้มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เงินในจำนวนเท่าเดิมไม่สามารถซื้อของในปริมาณเท่าเดิมได้อีกต่อไป ซึ่งในอนาคตข้างหน้าภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ ฉะนั้นหากเราไม่สนใจ หรือมีการรับมือ จัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่ดี ก็อาจเสี่ยงให้การเงินล้มเหลวไม่เป็นท่าได้ค่ะ

หากคุณไม่อยากล้มเหลวทางการเงินตั้งแต่ต้นปี ควรมีการวางแผนจัดการการเงินที่ดี สร้างวินัย ปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายใหม่ เพื่อป้องกันความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ