ไม่ใช่แค่จด! ทำบัญชีรายรับ–รายจ่ายอย่างไรให้ได้ผล ปลอดหนี้ มีเงินออมได้จริง

เห็นใคร ๆ ก็บอก ว่าถ้าอยากปลดหนี้ มีเงินเก็บ ให้ทำ “บัญชีรายรับรายจ่าย” ซึ่งก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่รู้หรือไม่ว่าการจะทำบัญชีให้ได้ผลจริงอย่างว่า ต้องไม่ใช่แค่การจดรายรับกับรายจ่ายลงสมุดไปวัน ๆ เท่านั้นนะ! มาดูกันว่าเราจะทำบัญชีรายรับรายจ่ายยังไงให้ได้ผลเกินคาด ประสิทธิภาพเกินขั้น

• จดบันทึกตามความจริง
ฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐานเอามาก ๆ จนหลายคนอาจคิดว่า “ก็ต้องจดตามจริงอยู่แล้วสิ ไม่เห็นต้องบอกเลย” แต่ในความจริงแล้ว บางคนอาจละเลยที่จะบันทึกรายการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มูลค่าไม่กี่สิบหรือไม่กี่ร้อย เพราะเห็นว่าไม่สำคัญ บางครั้งก็จดแค่ตัวเลขกลม ๆ คร่าว ๆ เพราะเห็นแก่ความสะดวก หรือบางครั้งก็แอบเนียนจงใจลืมจดบางรายการลงไปซะอย่างนั้น เพราะกลัวจะเห็นตัวเลขแดงโร่ตอนสิ้นเดือน แบบนี้ไม่ดีแน่ ทางที่ดีควรลงบัญชีให้ครบถ้วนและถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่อย่างนั้นการทำบัญชีจะมีความหมายอะไรล่ะ

• ใช้สมุดเล่มเล็ก หรือแอปพลิเคชั่นมือถือ
อุปสรรคข้อใหญ่ในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ได้ผล ก็คือความขี้หลงขี้ลืมของเราเองนี่แหละ พอกลับมาถึงบ้านก็ลืมหมดว่าทั้งวันใช้จ่ายอะไรไปบ้าง จำนวนเท่าไร ลงบัญชีผิด ๆ ถูก ๆ ลองเปลี่ยนจากสมุดบัญชีเล่มใหญ่ มาเป็นจดลงสมุดเล่มเล็กที่พกติดตัวได้ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นบัญชีรายรับรายจ่ายมาใช้แทนการจดด้วยมือ แล้วก็ลงบัญชีทันทีทุกครั้งที่จ่ายหรือรับเงิน แค่นี้ก็หมดปัญหาเรื่องหลงลืมแล้ว

• แยก “เงินกู้ยืม” ออกจากรายได้
โดยทั่วไปเรามักจะแยกบัญชีเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ “รายรับ” กับ “รายจ่าย” เท่านั้น แล้วถ้าเป็นเงินที่ได้มาจากการหยิบลืมล่ะ จะใส่ไว้ตรงไหนดี? บางคนอาจใส่จำนวนนี้ไว้ในรายรับ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้เราใช้จ่ายเพลินจนเผลอลืมไปว่าเงินส่วนนี้จะต้องจ่ายคืนในอนาคต รู้ตัวอีกทีก็ไม่มีเงินจ่ายหนี้ซะแล้ว ดังนั้นทางที่ดีควรแบ่งบัญชีออกเป็น 3 ส่วน คือ รายรับ รายจ่าย และหนี้สิน แล้วอย่าลืมระบุลงไปให้ชัดด้วยว่าเป็นหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายอะไร ดอกเบี้ยเท่าไร และกำหนดจ่ายคืนตอนไหน

• แยกหมวดระหว่าง “รายจ่ายจำเป็น” และ “รายจ่ายไม่จำเป็น”
ต่อจากข้อที่แล้ว นอกจากจะแยกบัญชีออกเป็น 3 ส่วนแล้ว ถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก ควรแยกหมวดรายจ่ายออกเป็น “รายจ่ายจำเป็น” เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเทอมลูก ฯลฯ และ “รายจ่ายไม่จำเป็น” เช่น ค่าของขวัญปีใหม่ ค่าเสื้อผ้าแบรนด์เนม ค่าตั๋วหนัง ฯลฯ แบบนี้สุดท้ายเราจะได้รู้ว่าเงินที่จ่ายออกไปนั้น เป็นของไม่จำเป็นมากน้อยแค่ไหน และอะไรที่ควรตัดออกบ้าง

• หมั่นวิเคราะห์พฤติกรรมใช้จ่ายของตัวเองเสมอ
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าจะให้ดีสุด ๆ ก็ควรเอาสิ่งที่เราจดเอาไว้มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองควบคู่ไปด้วย หมั่นพิจารณาดูว่ายอดรายรับ รายจ่าย หนี้สิน เงินออม ของตัวเองในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากเดือนก่อน ๆ ยังไง และมีรายจ่ายส่วนไหนที่สามารถตัดออกได้บ้าง ทำแบบนี้เรื่อย ๆ รับรองว่าสุขภาพทางการเงินของเราจะดีขึ้นในระยะยาวแน่นอน