ออมอย่างมั่นคง รักษาวินัยง่าย ไม่ผิดแผน ด้วยทฤษฎี “6 JARS”

“อยากมีเงินเก็บเยอะๆ แต่ไม่มีเงินเหลือให้เก็บสักเดือน”

ปัญหาของเหล่ามนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนที่คิดอยากจะออมเงินหรือมีเงินเก็บก้อนใหญ่สักก้อน แต่เมื่อเงินเดือนออกทีไรก็กลับใช้จ่ายอื่น ๆ หรือชอปปิ้งไปซะหมด พอถึงเวลาเจ็บป่วยหรือยามฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินเก็บก้อนนี้ ก็กลับไม่มีให้เราใช้สักบาท

นั่นเป็นเพราะเกิดจากที่เราไม่มีการบริหารจัดการเงินที่ดีพอ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งหาวิธีการบริหารและการออมเงินที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเรา เพื่อสร้างวินัยในการออมเงินที่จะช่วยให้ในอนาคตเรามีความมั่นคงในชีวิต

ทฤษฎี 6 JARS หรือ JARS System of Money Management เป็นทฤษฎีการบริหารเงินแบบ 6 กระปุก ช่วยแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายและการเก็บเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคิดค้นโดย T Harv Eker นักพูดและนักคิดทางด้านการเงินการลงทุน เจ้าของหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind (ถอดรหัสลับ สมองเงินล้าน) โดยได้แบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายและการเก็บเงินไว้ทั้งหมด 6 ส่วน ดังนี้

  • กระปุกที่ 1 เงินเพื่อความจำเป็น

คือ ค่าใช้จ่ายที่ถูกแบ่งเพื่อไว้ใช้จ่ายชีวิตระจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าของใช้ภายในบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และหนี้สินต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะถูกคิดเป็น 55% ของรายได้ทั้งหมด

  • กระปุกที่ 2 เงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ

คือ เงินสำรองที่ไว้สำหรับใช้จ่ายในอนาคตยามที่เราเกษียณหรือลาออกจากงาน เพื่อให้เราสามารถมีเงินใช้ได้โดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนลูกหลาน โดยค่าใช้จ่ายเพื่อชีวิตหลังเกษียณคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด

  • กระปุกที่ 3 เงินเพื่อใช้ในการลงทุน

เพราะการลงทุนถือเป็นความมั่นคงทางการเงินที่สำคัญและขาดไม่ได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรา ซึ่งก็มีให้เลือกหลากลายรูปแบบ เช่น หุ้น กองทุนรวม สลากออมสิน ฝากประจำ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยเงินในส่วนนี้จะคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด

  • กระปุกที่ 4 เงินเพื่อใช้แสวงหาความรู้

การเรียนรู้ก็คือการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง เพราะความรู้ต่าง ๆ ที่เรามีจะไปช่วยพัฒนาและเพิ่มทักษะในการทำงานของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อปริญญาโท เรียนคอร์สเพิ่มความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเงินส่วนนี้ถูกคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด

  • กระปุกที่ 5 เงินเพื่อให้รางวัลแก่ตัวเอง

ทำงานหนักมาทั้งเดือนก็ต้องให้รางวัลตัวเองกันบ้าง โดยสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายตามใจชอบได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะชอปปิ้ง ดูหนัง กินบุฟเฟ่ต์ โดยจะถูกคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด

  • กระปุกที่ 6 เงินเพื่อการให้

เงินเพื่อการให้ผู้อื่น ตั้งแต่การบริจาคเงินเพื่อทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส การทำบุญ ตลอดจนการซื้อของขวัญให้ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะถูกคิดเป็น 5% ของรายได้ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าการเก็บเงินตามทฤษฎี 6 JARS ถือเป็นการบริหารเงินที่ไม่ยากและแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่าย การลงทุนไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เรื่องของการแบ่งสัดส่วนในแต่ละส่วนเราสามารถเลือกปรับได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามเมื่อมีทฤษฎีการเก็บเงินที่ดีแล้ว เราก็ควรที่จะต้องสร้างวินัยในการเก็บเงินที่ดีด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นหากเราอยากมีเงินเก็บไว้ใช้เยอะ ๆ ในอนาคตก็ควรเริ่มสร้างพื้นฐานการเงินที่ดีไว้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป