6 แก๊งโจรออนไลน์ ที่กำลังจ้องจะสูบเงินคุณ

ที่ไหนมีคนอยู่รวมกัน ที่นั้นย่อมมีมิจฉาชีพ โดยเฉพาะตอนนี้ที่โลกออนไลน์ได้รวบรวมผู้คนไว้มากมาย ย่อมหมายถึงการรวมโจรเอาไว้มากมายเหมือนกัน ถ้าพลาดท่านอกจากเสียเงินแล้วยังต้องเจ็บใจด้วย ตามมาดูกันค่ะว่ามีมิจฉาชีพแก๊งไหนบ้างที่กำลังออกอาละวาดบนสื่อออนไลน์อย่างหนัก รู้ไว้ไม่เสียท่าแน่นอน

  • แก๊งสวมรอยขอเงิน

คนร้ายจะแฮกเข้า Facebook หรือ Line ของคนที่เรารู้จัก แล้วใช้แพลตฟอร์มนั้น ๆ ทักเรามา สวมรอยเป็นเจ้าของแอคเคาท์เพื่อขอให้เราโอนเงินให้ เช่น อ้างว่าประเป๋าเงินหายต้องรีบใช้เงินด่วน หรือติดคดีต้องรีบประกันตัว จุดสังเกตคือมักเร่งให้รีบโอนเงินโดยด่วนที่สุด ถ้าเรามัวแต่ตกใจ ไม่ทันสังเกตว่าเลขบัญชีที่อีกฝ่ายส่งมาไม่ใช่ชื่อที่ถูกต้อง ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ๆ

วิธีป้องกันคืออย่ารีบโอนเงินให้ใครเพียงแค่อีกฝ่ายทักมาทางออนไลน์ แม้ว่าลักษณะการพูดหรือการใช้สรรพนามจะเหมือนตัวจริงแค่ไหน แต่ต้องคิดไว้เสมอว่าโจรมืออาชีพสามารถอ่านแชทก่อนหน้านี้เพื่อปลอมตัวให้แนบเนียนได้อยู่แล้ว ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือโทรเช็กกับคน ๆ นั้นให้ชัดเจนก่อนว่าใช่ตัวเขาจริงรึเปล่า

  • แก๊งพนันออนไลน์

หลายคนอาจจะเคยเห็นโพสต์บน Facebook ที่ชวนเล่นเกมง่าย ๆ เพื่อรับรางวัล เช่น

– “ใครพิมพ์ XOXO แล้วขึ้นสีส้มแจกเงิน 500 บาทจ้า

– “เติมคำในช่องว่างให้ถูกต้อง Comment ไหนตอบถูกแจกเงิน

– “แจกอั่งเปาคนละ 1,000 แค่พิมพ์สาธุ99”

ซึ่งถ้าเราคอมเมนต์ตอบโพสต์ไป คนร้ายก็จะคอมเมนต์ตอบให้แอด LINE มารับรางวัล เมื่อเราแอด LINE ไปก็จะถูกดึงเข้ากลุ่มพนันออนไลน์ทันที โดยคนร้ายจะส่งข้อความหว่านล้อมให้เราเล่นพนัน โดยอ้างว่าเล่นแล้วรวย ได้เงินง่าย มีคนมากมายรวยมาแล้ว ถ้าเราหลงกลก็จะเสียเงินกับการพนัน

วิธีป้องกันก็ง่ายมาก คืออย่าไปเล่นเกมอะไรแปลก ๆ บน Facebook ถ้าไม่ได้โพสต์โดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ยิ่งเป็นเกมที่เล่นง่าย ให้รางวัลเยอะแบบไม่สมเหตุสมผล ก็ยิ่งต้องระวัง หากโดนดึงเข้ากลุ่มพนันแล้วก็ให้รีบออกจากกลุ่ม ไม่ต้องพูดคุยให้เสียเวลา

  • แก๊งหลอกขายของออนไลน์

ลงขายของออนไลน์ หลอกให้คนมาสั่งซื้อและโอนเงินให้ แต่ร้านกลับไม่ยอมส่งสินค้า หรือส่งสินค้าปลอมหรือของคุณภาพต่ำให้แทน ไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ หลังจากนั้นก็จะบล็อกช่องทางติดต่อไม่ให้ลูกค้าตามทวงได้อีก

วิธีการป้องกันคือต้องพิจารณาร้านค้าออนไลน์ให้ดีก่อนสั่งซื้อ ถ้าร้านไหนขายสินค้าในราคาถูกกว่าร้านอื่นมาก ๆ ถูกอย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะของแพง ๆ อย่างพวกสินค้าไอทีหรือแฟชั่นแบรนด์เนม คำบรรยายสินค้าดูแปลก ๆ เหมือนใช้โปรแกรมแปลภาษา รูปสินค้าไม่ชัดเจน หรือเป็นรูปที่ดึงมาจากเว็บไซต์อื่น ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าน่าสงสัย ในกรณีที่พูดคุยสั่งซื้อไปแล้ว ก่อนโอนเงินควรเอาชื่อบัญชีไปค้นหาใน Google เพื่อดูว่ามีประวัติโกงมาก่อนรึเปล่า

  • แก๊งแชร์ลูกโซ่

มักโผล่มาบนโซเชียลมีเดียในรูปแบบ “โพสต์อวดรวย” เช่น อวดรถหรู บ้านหรู สร้อยทอง โชว์เงินเป็นฟ่อน ๆ แล้วตบท้ายด้วยการชวนคนมาร่วมธุรกิจหรือเป็นสมาชิก ชวนมาลงทุนหรือออมเงินในธุรกิจที่อ้างว่ากำไรสูง แต่ที่จริงเป็นแชร์ลูกโซ่ เช่น ขายตรง สินค้าเกษตร ปุ๋ย ทอง น้ำมัน แพ็กเกจทัวร์ ฟอร์เร็กซ์ ฯลฯ ธุรกิจที่บังหน้าจะเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ แต่หลักการข้างในยังเหมือนเดิม คืออ้างผลตอบแทนสูงเว่อร์ จ่ายค่าสมาชิกแพง ยิ่งหาสมาชิกเพิ่มได้มากก็ยิ่งได้เงินมาก ถ้ามาทรงนี้กาหัวไว้เลยว่าแชร์ลูกโซ่แน่นอน

นอกจากบนโซเชียล แชร์ลูกโซ่แบบออฟไลน์มักมาในฐานะคนรู้จักที่มาชักชวน วิธีป้องกันก็คือปฏิเสธไปให้หนักแน่นว่าไม่สนใจเป็นสมาชิก ไม่ว่าอีกฝ่ายจะโน้มน้าวอย่างไรก็ยืนยันสั้น ๆ และหนักแน่นว่าไม่สนใจ

  • แก๊งหลอกรับสมัครงาน

โผล่มาในลักษณะโพสต์รับสมัครงาน มักเป็นงานง่าย ๆ รับมาทำที่บ้านได้ อ้างว่ารายได้ดี เช่น คัดแยกลูกปัด ปักแผ่นพลาสติก คัดนิทาน คัดบทสวดมนต์ คัดศัพท์ภาษาอังกฤษ ฯลฯ โดยเรียกเก็บค่าสมัครหรือค่ามัดจำวัตถุดิบก่อนเริ่มงาน มีหน้าม้ามาคอมเมนต์ว่าได้เงินจริง แต่สุดท้ายก็จะหลอกเอาเงินค่าสมัครไปโดยไม่จ่ายค่าแรง

วิธีป้องกันคือการเตือนใจตัวเองเอาไว้เสมอว่าการทำงานคือเราต้องได้เงิน ไม่ใช่เสียเงิน ถ้างานไหนที่เรียกรับค่าสมัครก่อน แปลว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล ยิ่งเป็นงานผลิตของที่ดูแล้วไม่น่าจะขายได้ แต่กล้าจ่ายค่าจ้างแพง ๆ แบบนี้มีโอกาสเป็นมิจฉาชีพสูงมาก

  • แก๊งหลอกจีบ

มีทั้งแบบสาวสวย หนุ่มหล่อ หนุ่มต่างชาติ ใช้รูปโปรไฟล์ปลอมทำทีเข้ามาทักแชทจีบ คุยกันไม่เท่าไรก็แสดงออกว่าอยากคบหาหรือแต่งงานด้วย หยอดคำหวานสารพัด แต่ไม่เคยได้ Video Call เห็นหน้าหรือเจอตัวจริงกันเลย สุดท้ายกลายเป็นมิจฉาชีพ หลอกให้โอนเงินให้แล้วหายตัว

ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ สิ่งแรกเลยคือต้องไม่หลงเชื่อความสวยหล่อที่เห็นในรูปโปรไฟล์ ถ้านำภาพไปค้นใน Google ดูมักเจอว่าเป็นรูปคนอื่นที่ขโมยมาแอบอ้าง และถึงจะแชทคุยกันมานานแต่ก็ไม่ควรโอนเงินให้คนที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพออนไลน์ 6 รูปแบบนี้เป็นแค่กลุ่มที่พบได้บ่อย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แม้แต่ตอนนี้มิจฉาชีพก็ยังพัฒนาการโกงแบบใหม่ ๆ ออกมาตลอด สิ่งสำคัญที่สุดคือต้อง มีสติ อย่าเป็นทาสความรัก ความโลภ ความหลง และคอยดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของคนในครอบครัวไม่ให้เผลอเป็นเหยื่อไปด้วย