เงินสำรองฉุกเฉินสำคัญยังไง ทำไมการวางแผนการเงินจำเป็นต้องมี

ในช่วงชีวิตของคนเรามักมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือเหตุจำเป็นต้องใช้เงินอย่างกระทันหัน เงินสำรองฉุกเฉินจึงถือเป็นสิ่งที่จะสร้างความมั่นคงด้านการเงินในให้กับชีวิตของเราได้ในยามฉุกเฉิน

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร สำคัญแค่ไหน?

ในการวางแผนการเงินสิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับต้น ๆ จึงเป็นเรื่องของเงินสำรองฉุกเฉิน ที่จะช่วยให้เราผ่านเวลาที่ยากลำบากในสถานการณ์ที่คับขัน บีบบังคับให้เราต้องให้เงินเก็บ เช่น เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ตกงาน คนในครอบครัวไม่สบาย เป็นต้น

โดยรูปแบบของเงินสำรองฉุกเฉินมักจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความคล่องตัวสูง สามารถฝาก ถอน โอนได้ง่าย เพื่อที่ว่ามีเหตุจำเป็นอะไรก็สามารถหยิบมาใช้ได้ในทันที

 

เท่าไหร่ถึงเรียกว่าเงินสำรอง?

หากว่าด้วยเรื่องของจำนวนเงินคงตอบได้ยาก เพราะปัจจัยในการใช้จ่ายของแต่ละคนมีไม่เท่าไหร่ แต่หากให้มองเป็นสมการในการวางแผนการมีเงินสำรองฉุกเฉิน โดยปกติแล้วควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่ากับรายจ่ายที่เราใช้แต่ละเดือน อย่างน้อย ๆ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ความมั่นคงอาชีพ การประเมินค่าใช้จ่ายของแต่ละคน เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน

ตัวอย่างเช่น

นายออมทรัพย์ มีรายรับรวมทั้งหมด 30,000 บาท มีรายจ่ายรวมต่อเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท หากนายออมทรัพย์ต้องการมีเงินสำรองฉุกเฉินควรเก็บให้ได้อย่างน้อย ๆ 20,000 x 3 = 60,000 บาท หรือ 20,000 x 6 = 120,000 บาท

หมายความว่านายออมทรัพย์ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินราว ๆ 60,000-120,000 บาท

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเป็นจำนวนเท่ากับนายออมทรัพย์ เพราะอย่างที่บอกไปว่ารายจ่ายของแต่ละคนไม่เท่ากันลองคำนวนรายจ่ายของตนเอง และนำไปคูณ 3 คูณ 6เดือนกันเองได้เลย

 

เริ่มต้นวางแผนการเงินต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง?

การเตรียมพร้อมในการเริ่มต้นจะวางแผนการเงิน ควรสำรวจความพร้อมจากรายได้ และรายจ่ายในชีวิตประจำวัน โดยจะต้องพิจารณาจจากข้อต่าง ๆ ดังนี้

 

– รายได้มั่นคงแค่ไหน

การเริ่มต้นวางแผนการเงิน เราควรรู้รายได้ที่แน่นอนของตนเองเป็นอย่างแรก เพื่อให้อย่างน้อย ๆ เราสามารถประเมินคร่าว ๆ ได้ว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันเราจะต้องหาเงินมาได้เท่าไหร่ และต้องประเมินด้วยว่าอาชีพของเรามีความมั่นคงทางรายได้มากน้อยแค่ไหน มีสวัสดิการอะไรรองรับหรือไม่ด้วยเช่นกัน เช่น ฟรีแลนซ์อาจจะต้องวางแผนเงินสำรองฉุกเฉินมากกว่าพนักงานประจำ เป็นต้น

 

– รายจ่ายต่อเดือนเฉลี่ยเท่าไหร่

ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต้องเป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายอยู่ทุกเดือน เช่น ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ประกันสุขภาพ ค่าอาหาร ค่าของใช้ส่วนตัว เป็นต้น

 

– มีความพร้อมในการหารายได้เพิ่มขนาดไหน

หากประเมินแล้วว่ารายจ่ายมากกว่า 80% จากรายได้ของเรา ทีนี้เราก็คงต้องมามองแล้วว่าจะทำยังไงให้มีเงินมาใช้จ่ายโดยไม่ติดขัด และยังคงเก็บออมเงินสำรองฉุกเฉินได้ด้วย ซึ่งอาจจะต้องหารายได้เพิ่มเติมเข้ามา หากใครที่ทำงานประจำก็อาจหางานออนไลน์ เช่น เขียนบทความ ขายของออนไลน์ วาดรูป ทำกราฟิก เป็นต้น ซึ่งเราก็อาจจะนำเงินส่วนนี้มาเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้

 

จุดเริ่มต้นในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีคือการมีเงินสำรองฉุกเฉินได้อย่างเพียงพอต่อสถานการณ์ยามคับขัน โดยไม่ติดขัดอะไร ถ้าหากเราอยากให้การวางแผนการเงินของเราประสบความสำเร็จควรเริ่มต้นสร้างวินัยการเงิน และลงมือทำอย่างจริงจังโดยทันที