เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) “บทความ​ เรื่องเร่งด่วนของ​ SME ที่เกี่ยวกับเครดิตบูโร” วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562

บทความ​ เรื่องเร่งด่วนของ​ SME ที่เกี่ยวกับเครดิตบูโร

เมื่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ได้เข้าทำหน้าที่​ และเปิดตัวโดยให้นโยบายและแนวทางถึงการที่ ประเทศไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า (Value-Based Economy) และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคนของทุกภาคส่วนให้มีความรู้ความสามารถสมัยใหม่โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งภาคอุตสาหกรรมนับเป็นหัวหอกหลัก​ เป็นกำลังหลักในการลากจูง​ ขับเคลื่อน​ไปสู่เป็าหมายแน่นอนว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการและภาคการค้า ต้องรีบปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น​ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่​ SME หรือคนตัวเล็ก​ ธุรกิจขนาดจิ๋ว​ก็ตาม​ อันนี้เป็นภาพใหญ่ที่ใครเข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องแก้ไข

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องเร่งด่วนที่ฝ่ายนโยบายคณะใหม่จะเข้ามาดำเนินการก่อนคือ
1. การส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งอนาคตตามนโยบายของรัฐบาลเดิมต่อเนื่องมายังรัฐบาลใหม่ชุดนี้เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแปรรูปอาหาร ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น​

2. การหาแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ​ SME โดยมีแนวคิดที่จะหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแหล่งเงินทุนและมาตรการด้านการเงิน ช่วยลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น เรื่องเครดิตบูโร การลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ​ เป็นต้น

3. ในเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีต้องไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อน เพราะค่าแรงเป็นต้นทุนในกระบวนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคปลายทาง

จากข้อ 2 ที่ระบุถึงเครดิตบูโรนั้น​ ผู้เขียนขอเรียนรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าประเด็นหนึ่งที่ควรหยิบขึ้นมาพิจารณาคือ​ ลูกหนี้​ SME ที่ทำการปรับโครงสร้างหนี้แล้วไปต่อได้ยากในการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนทั้งที่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ​ ไม่ใช่การถูกบังคับจากเจ้าหนี้​ หรือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้คำพิพากษา​ หรือการทำยอมในศาล​ ผู้เขียนขอเล่ารายละเอียดให้ฟังเพื่อพิจารณา​ จะเห็นด้วยเห็นต่างไม่ว่ากันครับ​ เรื่องมันจะเป็นประมาณนี้…

การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า​ SME ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและต้องการการผ่อนผันกฏเกณฑ์ที่เห็นได้ว่าเข้มงวดเกินไปในขณะนี้​ จนส่งผลให้สถาบันการเงินไม่มีทางเลือกที่ต้องดำเนินการไปตามทิศทางนั้นตัวอย่างเช่น​ การที่ธนาคารกลางผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินไปกำหนดเกณฑ์ว่าหากสัญญาเงินกู้กำหนดให้มีการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเช่น​ การผ่อนสินเชื่อธุรกิจ​ ผ่อนบ้าน​ ผ่อนรถยนต์​ ผ่อนสินเชื่อส่วนบุคคล​ ที่มีการกำหนดต้นและดอกไว้ในเงินงวด​ ซึ่งหากลูกค้าประสบปัญหาบางช่วงที่ไม่สามารถจ่ายเต็มยอด​ แต่สามารถจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย​แล้ว​ กฏได้ระบุว่าต้องจัดชั้นสินเชื่อรายนั้น​ ผลคือธนาคารก็ต้องสำรองเพิ่ม​ทันที​ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง​ หากธนาคารไม่ต้องการกันสำรองรายการนั้น​ ธนาคารก็จะให้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้​ อาจด้วยการปรับตารางการชำระหนี

แต่พอลูกค้าต้องปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ​ และไม่ใช่เป็นปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง​ แต่เป็นการขาดสภาพคล่องชั่วคราว เช่น​ ลูกหนี้การค้าชำระหนี้ล่าช้าเป็นต้น​ กลับเป็นว่าเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้​ ผู้ตรวจสอบธนาคารก็จะถือเอาว่าเป็นลูกค้ากลุ่มอ่อนแอ​ หากใครจะให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อแก้ไขการขาดสภาพคล่องชั่วคราว​ ก็จะถูกสั่งสำรองเพิ่ม​ ซึ่งก็ทำให้ธนาคารไม่อยากให้สินเชื่อกลุ่มนี้​ และกลายเป็นต้องให้ลูกค้ากลุ่มนี้รอดูใจออกไป​ 12-24เดือนจึงจะพิจารณาสินเชื่อใหม่​ ตรงนี้คือสิ่งที่หากมีมาตรการออกมาผ่อนผันผ่อนปรน​ ประวัติในเครดิตบูโรก็ยังเป็นไปตามความจริง​ และคนให้กู้ก็สบายใจมากขึ้นที่จะพิจารณาให้กู้ครับ​
ขอบคุณที่ติดตามนะครับทุกท่าน