คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “ขอคุยถึงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนอีกครั้ง” นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2560

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนได้มีข่าวสารออกมาถึงมาตรการกำกับ ดูแล ควบคุม คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน ในการก่อหนี้สินประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ซึ่งผลของมาตรการนี้จะเกิดกับลูกหนี้หน้าใหม่ หรือคนที่ยื่นขอสินเชื่อใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป เราๆ ท่านๆ คงต้องติดตามผลต่อไป ว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เกิดความยั้งคิด และชะลอการ ก่อหนี้ภาคครัวเรือนที่ไม่ค่อยสมเหตุผลลงไปได้กี่มากน้อยนะครับ

บทความวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่กลายเป็นหนี้เสีย เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ เป็นหนี้ NPL หรือเป็นหนี้ที่มีการค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (ค้างชำระเกิน 3 งวดติดกัน) ที่มีชื่อว่า “คลินิกแก้หนี้” นั่นเอง มาตรการนี้ได้เริ่มมาก็เป็นเวลามากกว่า 2 เดือนแล้วเรามีประเด็นบางอย่างที่เห็นจากหน้างาน จากสื่อ จากที่มีการคุยกัน รายละเอียดมีดังนี้

ในด้านบวกระบุว่า
1.เป็นทางออกสำหรับคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะได้หันกลับมา ยอมรับความจริง ยอมแก้ปัญหา จัดตารางการชำระใหม่ ตามสภาพของรายได้ รายจ่ายที่เข้ามาในแต่ละเดือน
2.ทำให้มีสมาธิกลับไปทำงานได้อีกครั้ง ไม่ต้องผวากับการตามหนี้ หวาดระแวงว่าใครจะรู้ที่ทำงาน หัวหน้าจะทราบ ฝ่ายบุคคลจะมาจัดการ หรือจะโดนหมายจากเจ้าหนี้มาหรือไม่ ยิ่งปลายเดือนต่อต้นเดือนใหม่ ป่วย ขาด ลา ดูจะเป็นกลยุทธ์หนีหนี้ หนีการตามหนี้
3.ได้ดอกเบี้ยถูกลง ไม่แพง ไม่เจอดอกเบี้ยล่าช้า เบี้ยปรับ ค่าติดตามหนี้
ในด้านลบระบุว่า
1.ต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ใน 5 ปี อย่างนี้ก็แย่สิ เพราะถ้าฉุกเฉินจะทำอย่างไร (ฉุกเฉินจริงหรือไม่ก็ไม่รู้) จะไปกู้ก็จะผิดเงื่อนไข ตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่า มันเป็นจุดที่ลูกหนี้ทะลุไม่ได้สักที แทนที่จะเกิดการกลับตัวกลับใจมาออมเงิน ฉุกเฉินก็มาเอาเงินออม กลับยังคิดไปหาทางกู้มาอีก
2.ตอนนี้แค่ค้างชำระ 2 งวด หมุนเริ่มไม่ทัน แต่ยังสู้ชำระหนี้ เมื่อยังไม่เป็นหนี้เสีย ก็ยังเข้าโครงการไม่ได้ อาการลูกผีลูกคนก็เลยต้องว่ากันไปเองก่อน
3.ทำไมเอาแต่บัญชีที่มีกับธนาคารล่ะ ในชีวิตจริงมันเป็นหนี้ไปหมดนะ ทั้งธนาคาร ไม่ใช่ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ถ้าทำปรับโครงสร้างหนี้ไม่จบกับเจ้าหนี้ทั้งหมด แต่จบบางราย เงินเดือน รายได้ มันมียอดเดียวที่จะเอามาจ่าย เกิดสถาบันการเงินที่ไม่ได้ร่วมปรับโครงสร้างหนี้ด้วย เขาฟ้องขึ้นมา แล้วเราจะทำอย่างไร จะจ่ายใครก่อนใครหลัง อยากได้แบบว่าสะเด็ดน้ำกับเจ้าหนี้ทุกราย
4.อ้าว…คนที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีรายได้ประจำ มีอาชีพอิสระ รับจ้างทำงานให้เป็นงานๆ ไป แม้รายได้จะเข้ามาไม่สม่ำเสมอแต่ก็มีเข้ามานะ ถ้าช่วยแนะเรื่องบริหารจัดการนิดนึงก็ทำได้นี่นา ทำไมเหรอ คนมีรายได้ไม่ประจำมันถึงขาดโอกาสแบบนี้ล่ะ ทีเวลามาเสนอเงินกู้ให้ เสนอบัตรให้ รายได้ประจำหรือไม่ประจำก็ได้ 0% เหมือนๆ กันนี่นา
5.ทำไมจุดให้บริการน้อยจัง เราไปส่งเรื่องเราที่สาขาธนาคารได้หรือไม่ สาขาที่ใกล้บ้าน หรือในห้างก็ได้ พวกเขาก็รู้เรามีรายได้จากไหน เท่าไร เช็กได้ ทำไมต้องบอกกับ SAM แล้ว SAM ก็ต้องส่งกลับไปที่แบงก์ให้ตรวจอีกที อนุมัติอีกที ก็เข้าใจนะ คนที่ไม่จ่าย ผิดสัญญา พอจะมาทำสัญญาใหม่ว่าจะไม่ก่อหนี้อีก มีรายได้เท่านั้นเท่านี้ก็อาจไม่น่าเชื่อถือ เอาที่สบายใจนะ ได้หมดถ้าสดชื่น

ในด้านผลที่ออกมา พบว่า มีคนสนใจสมัครเข้ามาลงทะเบียนตามข่าวที่ระบุจำนวนกว่า 3.9 หมื่นราย อนุมัติเพียง 150 ราย ส่วนใหญ่ตกเกณฑ์ ผู้เขียนคิดว่าการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ก่อให้เกิดการตื่นตัวแล้ว ดูจากคนมาตรวจ เครดิตบูโรตัวเอง และคนที่มาลงทะเบียน หากแต่คุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์

ดังนั้น เราควรมาทบทวนเกณฑ์หรือไม่ เราควรให้เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่แบงก์เข้าร่วมโครงการหรือไม่ มันติดอะไร มันน่าจะมีทางออกได้สิ เพราะมันเป็นเรื่องช่วยคนให้ดิ้นพ้นจากบ่อหนี้ มันเป็นงานบุญงานกุศลนี่นา เพราะถ้าช้าออกไปคนจะขาดความเชื่อมั่น สำหรับกระบวนการให้บริการ ใจผมจะถามไปที่คนปฏิบัติว่าทำอย่างไรจะให้เร็วขึ้น คนปฏิบัติหน้างานเขารู้แน่นอน คนที่ไม่ได้ปฏิบัติลองเงียบๆ ไม่พูด ใช้ทักษะการฟัง ฟังช้าๆ ถอดหัวโขน แล้วก็น่าจะเห็นคำตอบ ความกล้ามันอยู่ที่กล้าอนุมัติให้ปรับแก้ตามความเห็นคนปฏิบัติหรือไม่

ความกล้าไม่ใช่การเอาแต่ความคิดเราเป็นตัวตั้ง ผมเห็นสื่อมวลชนหลายท่านออกมาให้ข้อคิด สะท้อนความเห็น ซึ่งเป็นอะไรที่ทุกคนมองเหมือนกัน คือ ลูกหนี้เหล่านั้น ชั่วดี ถี่ห่าง ก็เป็นคนไทยด้วยกัน ฆ่าลูกหนี้ ฟ้องลูกหนี้ ทำไปแล้วได้อะไร รักษา พยาบาล และให้ทางออก ถ้าเขายังกลับไปเสพหนี้อีก ก็ชีวิตเขาแล้วล่ะ…ขอบคุณครับ