ข่าวเครดิตบูโร 006/2561 รายงานการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ Doing Business 2019 ด้านการได้รับสินเชื่อ-ความลึกของข้อมูลเครดิต

ข่าวเครดิตบูโร 006/2561       

รายงานการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ

Doing Business 2019 ด้านการได้รับสินเชื่อ-ความลึกของข้อมูลเครดิต

 5 พฤศจิกายน 2561 : ทีมวิจัยของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2019) โดยประเทศไทย ได้รับคะแนน 78.45 เพิ่มขึ้นจาก 77.39 ในการประเมินครั้งก่อน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก สำหรับด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit)  ซึ่งประกอบด้วย 1. ดัชนีความแข็งแกร่งของสิทธิทางกฎหมาย (12 ตัวชี้วัด) 2. ดัชนีความลึกของข้อมูลเครดิต (8 ตัวชี้วัด)  ได้ผลรับคะแนนรวม 70 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 44 จาก 190 ประเทศทั่วโลก

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า เครดิตบูโรในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตที่ถูกประเมินในหมวดของการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) / ดัชนีความลึกของข้อมูลเครดิต ขอเรียนว่า ปัจจุบันในรายงานฉบับดังกล่าวนั้น ธนาคารโลกมีเรื่องที่จะต้องประเมินในหมวดการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) / ดัชนีความลึกของข้อมูลเครดิตทั้งสิ้น 8 คะแนน ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านการประเมินแล้วจำนวน 7 คะแนนจากคะแนนเต็ม 8 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 4.2 คะแนนของประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สำหรับอีก 1 คะแนนที่ประเทศไทยต้องการและยังขาดไปคือเรื่องการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลผู้ค้าปลีกและข้อมูลจากบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภค ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ตัวของเครดิตบูโรดำเนินการเองไม่ได้ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติ (Service Provider) ตามคำสั่งของผู้กำกับดูแล (Regulator) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตและภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขทางด้านกฎหมายเท่านั้น ในปัจจุบันการพิจารณาดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในคะแนนสุดท้ายนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต โดยมีส่วนกำกับข้อมูลเครดิต ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลในฐานะทีมเลขานุการของคณะกรรมการชุดดังกล่าวข้างต้น

ปัจจุบันประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ก็มีการเก็บข้อมูลดังกล่าว ซึ่งประโยชน์ของข้อมูลนี้จะมีส่วนช่วยให้คนที่มีประวัติสินเชื่อน้อย/ประวัติสินเชื่อสั้น หรือไม่มีประวัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินเลย (Thin Files) มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากยิ่งขึ้น