เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ไวรัสกินปอดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้เกิน 90 วัน หรือ 3 งวด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 :

ไวรัสกินปอดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้เกิน 90 วัน หรือ 3 งวด

ในวันนี้ผู้เขียนคงจะมาขอเล่าเรื่องในฐานะที่อยู่ในเหตุการณ์​และร่วมคิดร่วมผลักดันมาตรการ​ การแยกแยะและระบวนการชี้เป้า​ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสกินปอดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้เกิน​ 90 วัน หรือ 3 งวด​ ทำให้ลูกหนี้รายนั้นกลายเป็นหนี้​ NPL…ที่มาที่ไปของเรื่องมีดังนี้

1. บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ​เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ก่อตัวขึ้นมาหลังการประกาศปิดบ้านปิดเมืองเต็มรูปแบบในเดือนเมษายน 2563​ ถ้าจำกันได้ธนาคารกลางได้ออกมาตรการ​มารอบรับแบบฉุกเฉินเร่งด่วน​ เพราะคาดได้ว่าผลกระทบจะแรงมาก​

2.ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรรมการผู้แทนหลายฝ่ายรวมทั้งท่านเลขานุการรองนายกรัฐมนตรี​ในขณะนั้นก็มีความเป็นห่วงมาก​ ได้มีการตั้งวงคุยกันหน้าห้องหลังการประชุมว่า​ คนที่เป็นหนี้เสียเพราะโควิด-19 ควรต้องแยกออกมาจากคนที่เป็นหนี้เสียตามธรรมชาติ​ เพื่อออกมาตรการช่วยเขาเหล่านั้นให้กลับมาให้มากที่สุด​ เราคงช่วยทั้งหมดไม่ได้​ แต่ถ้ารีบก็จะมีเป้าหมายชัด (Clear Targeting) หาไม่แล้วมันจะเป็นแผลทางเศรษฐกิจ​

3.เครดิตบูโรจึงกลับมาคิดและเสนอว่า​ ถ้าลูกหนี้รายนั้นไม่เคยค้างเลยในทุกบัญชีที่เขาเป็นหนี้กับสถาบันการเงินย้อนหลังลงไปจากเดือนเมษายน​ 2563​ เป็นระยะเวลา​ 24 เดือนหรือ​ 24 งวดก็น่าจะถือว่าเขาเป็นลูกค้าที่ดี​ แต่หลังจากเดือนเมษายน​ 2563​ เป็นต้นมาเขาเริ่มค้างชำระ​ และกลายเป็น​ NPL​ เช่นธุรกิจร้านอาหาร​ เป็นต้น​ เหตุเพราะเดี๋ยวก็มีกฎกติกามากระทบจากมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขที่จำเป็นเป็นระยะจนขาดสภาพคล่อง​

4.ท่านผู้บริหารนโยบายในขณะนั้นจึงผลักดันให้มีการตั้งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี​เศรษฐกิจ​เพื่อส่งต่อให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปออกประกาศรองรับการกำหนดรหัสไว้กับบัญชีสินเชื่อที่มีลักษณะเป็น​ NPL​ เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ระบาด

5.โชคร้ายเหมือนฟ้าผ่า​ มีการยกเลิกการประชุมและทีมเศรษฐกิจ​ในเวลานั้นลาออกยกชุด​ เรื่องนี้จึงตกจากเครื่องบิน​ แต่ทางสภาอุตสาหกรรม​แห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้​ ได้มีการผลักดันเป็นข้อเสนออีกครั้ง​ในระดับนโยบาย​ และทางเครดิตบูโร​ก็ดำเนินการตั้งเรื่องตามกระบวนการจากล่างสู่บนผ่านฝ่ายงานที่กำกับดูแลเครดิตบูโร​ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือเต็มที่​ กระบวนการรับฟังความเห็น​ กระบวนการทั้งหลายที่ต้องทำในการออกประกาศ​ราชการที่กำหนดไว้ก็มาเพียบ​

6.เมื่อเรื่องถูกผลักดันจากสมาคมตัวแทนลูกหนี้มาบรรจบกับการทำงานจากล่างสู่บน​ ในเดือนมิถุนายน ​ 2564​ ประกาศ​ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูล​เครดิตจึงคลอดออกมาได้โดยระบุใจความสำคัญว่า​
… ให้สถาบันการเงินพิจารณาว่าบัญชีสินเชื่อของลูกหนี้รายใดที่มีการผิดนัดเกิน​ 90 วันหรือบัญชี​ NPL​ นั้นหากเกิดจากการได้รับผลกระทบจากไวรัสตัวร้ายและการชำระหนี้ของบัญชีนั้นในอดีตนับแต่สิ้นปี​ 2562​ ลงไปไม่เคยผิดนัดชำระเลย​ 12 เดือน​ ก็ให้ติดรหัส​ 21​ แทนที่จะเป็น​ 20​ ซึ่งเป็นรหัสเดิมของบัญชีที่เป็น​ NPL​ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ นานา…

สิ่งที่เราจะได้เห็นชัดในเชิงข้อมูล​คือ​ บัญชีสินเชื่อของลูกหนี้รายใดเป็นหนี้เสียเพราะผลกระทบจากไวรัส​โควิด-19 เหมือนผลกระทบจากน้ำท่วม​ เหมือนการแยกแยะบัญชีที่มีการพักชำระหนี้จะทำให้มีการคัดแยกปลาป่วยออกจากน้ำ​ จะได้เอาปลาป่วยไปรักษาในตู้ปลาที่ใส่ยาแยกต่างหาก​ เพราะลูกหนี้เหล่านั้นคือผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจ​ตัวจริงเสียงจริง​ เขาพร้อมค้าขาย​ เขาอยากสู้ต่อ​ เขามีภาระลูกน้องลูกจ้างต้องดูแล​ เขาไม่อยากแบมือขอ เขามีฝีมือ​ เขามีตัวตนในระบบเศรษฐกิจ​รากฐานของประเทศเรา​ และเขาคือนักสู้ตัวจริงที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์​จากการผูกขาด​ ตัดตอน​ มีอำนาจตลาดแอบแฝงใด ๆ​ เขาคือคนในระบบ​…ใครจักใคร่ค้า​ ช้างค้า​ ใครจักใคร่ค้า​ ม้าค้า…

ท่านผู้อ่านครับ​ กว่าเราจะได้เครื่องมือมาช่วยแยกแยะเป้าหมายชัดเจนต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปีในยามสงครามโรคระบาด​ และผู้คนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันทำต่างไม่ท้อมันจึงเกิดขึ้นได้​ เราต่อสู้กับระบบ​ ขั้นตอน​ กติกาที่สร้างกันมาแต่อดีตด้วยสมองคนที่บอกเหตุผลต่าง ๆ นานา​ บางครั้งเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว​ ไม่รู้สึกรู้สากับความเดือดร้อน เพื่อให้เร็วทันในการช่วยคนเป็นหนี้จากสงครามโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19​ ก็ไม่รู้ว่า​ “เราชนะ​ หรือเราแพ้”

ตอนนี้เราก็มาเจอกับดักตัวที่สองคือ​ การจะให้ความช่วยเหลือด้วยการใส่สภาพคล่องกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ​ ต้องฝ่าด่านคำว่า​ ลูกหนี้รายนั้น “ต้องยังพอมีศักยภาพ” ซึ่งผู้เขียนก็มาเจอเอากับข่าวที่มีการสื่อสารออกมาจากแหล่งข่าวในแวดวงการเงินความว่า
… การดูว่ามีศักยภาพไหม สถาบันการเงินก็จะดูว่าลูกค้ามีความสามารถในการหารายได้แค่ไหน ถามว่าแล้วธุรกิจอย่างร้านอาหาร ที่เดี๋ยวก็ต้องปิด หรือเปิดแบบไม่ให้นั่งทานที่ร้านจะคำนวณรายได้อย่างไร หรือกลุ่มโรงแรมจะคำนวณรายได้อย่างไร เพราะยังบอกไม่ได้เลยว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาวันไหน เงื่อนไขแบบนี้เขียนไว้เพราะไม่อยากให้ลูกหนี้ที่ไม่ดีเข้ามาขอใช้สินเชื่อ สรุปก็คือ ลูกหนี้กลุ่มสีส้ม กับสีแดง ก็ไม่สามารถกู้ได้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ หากจะช่วยผู้ประกอบการกลุ่มสีส้ม หรือสีแดง (ผู้เขียนคิดว่าก็คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก​ และเป็นกลุ่มหนี้เสีย)​ ก็จะต้องแก้ไขเงื่อนไขในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังกล่าวด้วย โดยต้องเขียนใหม่ว่า “ ให้สภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” เพราะหากไม่ผ่อนเกณฑ์ ก็คงไม่มีแบงก์ไหนกล้าปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มสีส้ม และสีแดง ส่วนกลุ่มสีเขียว สีเหลือง ก็จะมีแค่กลุ่มส่งออกที่ธุรกิจไปได้ในช่วงนี้

ผู้เขียนพยายามจะสื่อให้เห็นภาพว่า​ กับดักที่เราด้วยกันสร้างขึ้นมาในยามเศรษฐกิจ​หน้าตาแบบหนึ่งจะเพื่อความมั่นคง​ เสถียรภาพ​ หรือเพื่อความรอบคอบ​ รัดกุม​ เข้มข้น​ มันอาจดีและเป็นคำตอบที่ถูกในบริบทวันนั้น​ แต่วันนี้ขาหนึ่งกำลังสู้กับไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่มีสมองเพื่อหยุดความสูญเสีย​ในชีวิต​ การเจ็บป่วย​ ทำไมเรายอมเสี่ยงกับการใช้วัคซีน​ที่ยังอยู่ในระยะทดลอง​ ขนาดลิงยังบอกว่า​ ให้มนุษย์​ทดลองให้จบก่อนค่อยมาฉีดฉัน​ แต่ในอีกด้านหนึ่งของสงครามเศรษฐกิจ​ เรากำลังใช้กระบวนการตามขั้นตอน​ กฎกติกา​ Kick​ the can down the road หรือไม่​ ท่ามกลางผู้คนเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นมาแล้ว​

ไม่มีทางที่เราจะได้ผลลัพธ์​ที่ต่างและใหม่
ด้วยการใช้กระบวนการเก่าและเดิม​ ที่คนทำงานทั้งราษฎร์​และหลวงก็รู้ดีแก่ใจว่าไม่น่าจะใช่…

ขอย้ำว่านี่คือความเห็นส่วนตน​ มิใช่ความเห็นขององค์กร​ที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด
ขอบคุณ​ครับ