เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ก่อหนี้​ ชำระหนี้​ หนี้มีปัญหา​ ก็รวมหนี้เพื่อแก้หนี้​ จบแล้วก็ไปก่อหนี้… วนเวียนกันไป : วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564

ก่อหนี้​ ชำระหนี้​ หนี้มีปัญหา​ ก็รวมหนี้เพื่อแก้หนี้​ จบแล้วก็ไปก่อหนี้… วนเวียนกันไป

ภาพของเศร​ษฐกิจที่เริ่มคึกคักเมื่อมีการก้าวข้ามความกังวลในเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน​ จำนวนวัคซีน​ที่ได้รับมา​ จำนวนคนที่ยอมให้วัคซีน​เข้าแขน​ ตัวเลขของผู้เข้ารับการรักษา ผู้เสียชีวิตรายวัน​ แม้เป็นตัวเลขที่ต้องทำใจเพราะจะไปสุดโต่งแบบปิดบ้านปิดเมืองกันเต็มที่​ Income Shock ก็จะมา​ ผลคือความทุกข์​ยากของคนที่ต้องมีรายได้ไม่ว่าจะเป็นรายวัน​ รายสัปดาห์​ รายเดือนมันจะไปต่อได้ยาก​ ประกอบกับผู้คนต่างก็ก่อหนี้กันสารพัดในช่วงที่ผ่านมา​ ไม่ต้องพูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ก่อหนี้มาทำทุนเพื่อการค้าขาย​ คิดง่าย ๆ จะทำการค้าก็ต้องเสียเงินค่าเช่าที่​ ค่าเช่าทำเลที่ตั้ง​ อุปกรณ์​ข้าวของ​ วัตถุดิบ​ ต่อด้วยค่าใช้จ่ายลูกจ้าง​ เงินที่ต้องมีสำรองไว้ตอนรอรับเงินจากคนซื้อหลังส่งของตามระยะเวลาที่ให้เครดิตทางการค้ากัน​ มันใช้เงินทั้งนั้น​ เมื่อมีไม่พอก็ต้องกู้เงิน​ ในที่นี้จะพูดถึงการกู้กับสถาบันการเงินนะครับ​ เมื่อมีการกู้กันหลายบัญชี​หลายเจ้าหนี้​ เราก็เรียกว่า​ SMEs กู้หนี้หลายทาง​ พอวงจรของเศรษฐ​กิจ​มันเกิดปัญหา​ มันก็ดึงเอาทุกอย่างที่เคยคิดว่า​ “เอาอยู่​ ทำได้​ ชำระได้แน่ ๆ” กลายมาเป็น​ “ไม่ไหว​ ต้องขอเจ้าหนี้ลดหย่อนผ่อนปรน” ที่ท่าน ๆ ทั้งหลายพูด ๆ กันคือ​ ปรับโครงสร้างหนี้นั่นเอง​ สภาพการณ์​ตามที่จั่วหัวเป็นชื่อบทความที่ว่า​ ก่อหนี้​ ชำระหนี้​ หนี้มีปัญหา​ ก็รวมหนี้เพื่อแก้หนี้​ จบแล้วก็ไปก่อหนี้… วนเวียนกันไป​ มันก็กลับมาอีกแล้วครับท่านผู้อ่าน

ทีนี้ถ้าเราเป็นคนสนใจใคร่รู้และมองปรากฏ​การณ์​ของการที่จะแก้ปัญหาแบบรวมหนี้ก็ต้องพิจารณา​ความเป็นไปของเรื่องอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง​ มองกลาง ๆ​ เพื่อให้เกิดสติว่า​ อ๋อ.. มันน่าจะเป็นอย่างนี้เอง​ เวลาที่เราต้องรับผิดชอบในการออกแบบให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้มาเจอกัน​ ทำอย่างไรให้มันจบได้​ มันอาจจะจบได้ระยะที่กำลังอยู่ในสถานการณ์​การแพร่ระบาด​ แล้วต้องไปว่ากันอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้​ อย่าไปหวังแบบใสซื่อบริสุทธิ์​ว่า​ โอ้ว.. เจ้าหนี้ช่างเมตตา​ยิ่งนัก.. และลูกหนี้ก็ช่างแสนดีหนักหนา​ เรื่องแบบนี้ไม่มีอยู่จริงในโลก​ เปรียบได้กลับคนโสด​ที่ วันหยุดก็ไปปฏิบัติธรรม​ กินข้าวกับผองเพื่อน​ เงินเดือนก็ไม่กระทบ​ องค์กร​ไม่ต้องหารายได้​ ไม่เคยรู้จักความรัก​ ความทุกข์​การสมรส​ ไม่เคยทำมาค้าขาย​ เวลาจะไปแก้ปัญหาคนค้าขาย​ จึงควรต้องเริ่มจากการฟังให้ได้ยิน​ อย่าเลือกฟังแต่ที่อยากจะได้ยิน​ ฟังมันแต่เจ้าหนี้รายนี้​ คนนี้ในดวงใจ​ ฟังคนที่พูดจริงแต่ระคายหูบ้าง​ ไอ้เรื่องผลัดกันเขียน​ เวียนกันอ่าน​ ผ่านกันชม​ เน้นแก้ถ้อยคำ​ และ หรือ ที่ ซึ่ง อัน​ของบรรดาเอกสารที่แก้กันไปมา จนขาดการให้น้ำหนักกับสาระมากพอก็เป็นตัวอย่างแล้ว​เช่น​ โครงการเปิดตัวใหญ่โต​ เอาผู้คนรวมเงินเดือนหลายสิบล้านมาแถลงร่วมกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย แต่แก้ไขปัญหาตามรูปแบบที่ฝันไว้ได้ไม่ถึง​ 20 ราย​ (ตามรายงานที่ผู้เขียนอ่านมันได้แค่​ 14ราย) ผู้เขียนอยากให้ต่อไปนี้ถ้ามีการแถลงข่าวขอให้แจ้งตัวเลขเป้าหมาย (Target) ให้ชัด ๆ ว่าจะมีสักกี่ราย​ กี่บาท​ เพื่อความโปร่งใส​ ติดตาม​ และประเมินผลได้แบบเดียวกับเวลาที่ท่าน ๆ ไปตรวจชาวบ้านและตั้งข้อสังเกต​ ข้อแนะนำให้แก้ไขปรับปรุง​

กลับมาประเด็นที่ขอยกขึ้นเพื่อเป็นข้อมู​ลให้ท่านผู้อ่านได้คิดกันต่อว่ามันใช่หรือไม่ใช่ในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้คนตัวเล็ก​ ตัวจิ๋ว​ ในระบบเศรษฐกิจ​ไทยเวลานี้​
1.ต้องเข้าใจธรรมชาติของเจ้าหนี้ว่า​ ปกตินั้นจะไม่ยอมร่วมมือกัน​ ต่างล้วนต้องการจะได้มากที่สุดจากลูกหนี้​ อย่างน้อยก็ต้องได้เงินต้นและดอกเบี้ยเท่ากับค่าเสียโอกาสหรือต้นทุน​ เจ้าหนี้รายใดในการประชุมเสนอความเห็นว่ายินดีอย่างยิ่งผู้เขียนไม่เคยเชื่อ​ แต่ถ้าบอกว่าขอพิจารณาข้อเสนอก่อน​ อันนี้น่าสนใจ​ ถ้าคิดว่าบรรยากาศ​ของการประชุมต้องดีจึงจะได้ข้อสรุปที่ดี​ อันนี้น่าจะไม่ใช่​ ประชุมกันเลือดสาดแล้วได้ข้อสรุป​ที่ใช่​ คือสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็นมาหลังปี​ 2540​ ไม่ใช่หรือ

2.ต้องมุ่งไปที่เป้าหมายที่ต้องการจะเห็นว่ามีการปรับโครงสร้างหนี้เกิดได้จริง​ ในจำนวนที่ต้องการ​ ในขนาดที่สร้างผลกระทบ​ ในเวลาที่จำกัด​ ภาษานักวางแผนคือ​ Big​ impact, scale and speed ในอดีตตอนที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้สินเชื่อเกษตร​ เราก็ใช้วิธีการจัดสรรเป็นโควต้า​ ใครทำไม่ได้ตามโควต้าก็ยึดเอามาเข้ากองกลางให้ธนาคารเพื่อการเกษตรเป็นคนปล่อยแทน​ ที่ผู้เขียนเสนอคือเปิดเผยข้อมูล​ว่าแต่ละแห่งมีการทำไปกี่เคส​ กี่ราย​ จำนวนเท่าใด​ เทียบกับเป้าที่เขารับปากว่าจะทำ (แม้ว่าเป้านั้นจะมาจากการขอร้องกึ่งบังคับก็ตาม)​ สิ่งที่เจ้าหนี้มักจะยกขึ้นมาคือ​ ความซับซ้อน​และขั้นตอนการปฏิบัติ​งานในกระบวนการ​ ซึ่งตรงจุดนี้มักเป็นเรื่องวิธีการที่เรารู้ ๆกันว่าคือ​ “ชักใบให้เรือเห” เพราะถ้าคิดจะทำจริง ๆ มันทำได้แน่นอน​ อัตโนมัติ​หรืออัตโนมือ​ มันก็ทำได้เสมอ

3.สิ่งที่ควรต้องบรรจุในข้อตกลงขั้นต่ำที่ขอเสนอเพื่อคิดต่อคือ

3.1 ระยะเวลาที่เจ้าหนี้จะไม่ใช้สิทธิ​ทางกฎหมายในการกดดันลูกหนี้ที่เข้าโครงการ​ อย่างน้อยควรต้อง​ 6 เดือนขึ้นไป

3.2​ ข้อกำหนดกรณีการผิดนัดชำระรายใดรายหนึ่งแล้วเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็น​ chain reactions ควรต้องให้ความละเมียดละไม​กับเงื่อนไขตรงนี้เพราะนี่คือจุดเปราะบางที่เกิดขึ้นได้มากที่สุด​ เนื่องจากความสามารถของลูกหนี้อาจยังไม่นิ่งและมีปัจจัยจากผลของประกาศทางการในการสั่งให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​ในช่วงการแพร่ระบาดอีกด้วย

3.3​ การที่คนกลางต้องตระหนักเสมอว่าเจ้าหนี้แต่ละคนนั้นมีขนาดของหัวใจที่อ่อนโยนไม่เท่ากัน​ มีกำปั้นมีอาวุธหนัก-เบาแตกต่างกัน​ เจ้าหนี้มีหลักประกัน​ หลักประกันแบบไหน​ ดีกว่า แย่กว่าเจ้าหนี้คนอื่นอย่างไร​ เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันน้อยมักจะเยอะในการสนทนาเข้าตำรา​ “เสียงดัง​ ตังค์​น้อย” เวลาไม่ได้ดั่งใจก็อ้างสิทธิของตนมีในการดำเนินการทางกฎหมาย​เป็นต้น​ ที่ผู้เขียนเคยเห็นในการประชุมเจ้าหนี้สมัยหลังปี​ 2540 คือ​ ประธานที่ประชุมไม่สนใจและตัดบท​ เพราะรู้ว่าต้องการผลสุดท้ายคืออะไร

4. อำนาจตามกฎหมายและอำนาจที่ไม่ต้องแสดง​ แต่มีพลังมากกว่าการแสดง​ คือสิ่งที่ผู้ประสานงาน คนกลาง คนออกแบบต้องรู้ว่าอำนาจที่ไม่อยู่จริงนั้น​ มันมีอยู่จริง​ อย่าให้ต้องงัดออกมาใช้​ มันเหมือนหนังฝรั่งคืออำนาจที่อยู่ในกล่อง​ Pandora ถ้ามันได้ออกมาแล้วมันกลับเข้าไปได้ยาก​ หรือถ้าเอาอย่างไทยๆคือเวลาที่ผีปอบออกมา​ ผู้คนต่างวิ่งลงตุ่มได้แม้ว่าตุ่มนั้นจะเล็กมากๆ​ แต่คนก็หนีความกลัวลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อตามแบบหนังผีไทยๆ​

ผู้เขียนก็เป็นคน ๆ หนึ่ง​ มีครอบครัวที่ทำธุรกิจลูกจ้างคนเดียว​ ถูกสั่งให้หยุดกิจกรรมการค้าขาย​ เอาเงินออมออกมาจ่ายค่าจ้างลูกจ้างมาตั้งแต่ 14 เมษายน​ 2564​ ที่ไม่เลิกจ้างก็เพราะลูกจ้างเขามีลูกเล็ก ไม่จ้างเขาแล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไร​ โลกความเป็นจริงใน​เอกสารการบรรยาย (PowerPoint Presentation) กับสิ่งที่เกิดบนถนนหนทาง​ ถ้าเราไม่หลอกตัวเองว่ามันช่างไร้เดียงสาเกินไป​ เราก็ตระหนักได้ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่​ เราทำเพื่อใคร​ เราทำเพราะอะไร​ สิ่งที่ทำมันคุ้มเงินคุ้มความไว้วางใจหรือไม่..
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม