เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : 1 พ.ย. 2564 การเปิดบ้านเปิดเมือง เปิดประเทศ ความท้าทายที่รออยู่ : วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน2564

1 พ.ย. 2564 การเปิดบ้านเปิดเมือง เปิดประเทศ ความท้าทายที่รออยู่

ในที่สุดระยะเวลาของการต่อสู้ดิ้นรนกับการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 (โควิด-19) ก็มาถึงระยะที่เรียกว่า ต้องอยู่ให้เป็น เพื่อจะได้อยู่กันต่อไปยาว ๆ หลังจากที่ปี 2563-2564 เราทุกท่านทุกคนต้องดิ้นรนกันในลักษณะ “อยู่ให้รอด” การดิ้นรนเพื่ออยู่ให้รอดจะมีเรื่องหลัก ๆ ก็คือ

(1) อยู่รอดด้านสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ผวากับการแพร่ระบาดปลายปี 2562 หน้ากากอนามัยขาดแคลน ของไม่มีในตลาด น้ำยาฆ่าเชื้อหมดหิ้ง น้ำยาล้างพื้น แอลกอฮอล์ หายไปหมด ราคาพุ่งสูง ทางการไล่จับพวกขายโก่งราคาในตลาดออนไลน์ พอเรื่องนี้ซาลง ก็มาเจอกับการกลายพันธุ์ การไม่ทำตามกติกาสาธารณสุข เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากการไม่ทำหน้าที่ของการควบคุม ผู้คนล้มป่วยจนเกินขีดความสามารถในการรองรับของสถานพยาบาล ตัวเลขคนติดเชื้อโควิด-19 คนเข้าโรงหมอ ครองเตียงคนป่วย อยู่ห้อง ICU ต้องใส่ท่อหายใจ ตามด้วยตัวเลขคนเสียชีวิตแบบน่าสะพรึงกลัว

ในเวลานั้นถ้าจำกันได้ ในหัวของผู้คนคือ ตัวเราติดเชื้อโควิด-19 หรือยัง เราจะไปต่ออย่างไรถ้าติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา เรียกว่าความเครียดฝังในสติยามตื่นกันทุกเมื่อเชื่อวัน และแล้ววัคซีนก็มา ความหวังก็เริ่มเห็น แม้ว่าวัคซีนที่จะฉีดมันคือการทดลองในสเกลใหญ่ระดับโลก เพราะมันคือของฉุกเฉิน วัคซีนไม่ดีพอ วัคซีนทำให้แพ้ถึงตาย วัคซีนยังไม่มา มีทั้งอยากฉีด ไม่อยากฉีด เลือกจะฉีด เกิดคนเก่งกันเต็มบ้านเต็มเมือง รู้ไปเสียหมดว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี ทั้งที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โรคหัดเยอรมัน ไม่เคยถามว่าเอาอะไรมาฉีดใส่แขนฉัน พอการบริหารจัดการแบบต้องฝ่ากระแสการเมืองมาจนถึงวันนี้ที่มีทั้งสูตรตรง สูตรไขว้ เข็มสาม เข็มสี่ ก็เริ่มมีกระแสวาทกรรมของมนุษย์ช่างรู้อีกแล้วว่า ภูมิคุ้มกันหมู่มีจริงหรือไม่

เรา ๆ ท่าน ๆ คงจะต้องอยู่กันต่อไปกับเรื่องวัคซีนในคลับเฮ้าส์ ฟังกันเอาเอง แยกผิดถูก ชั่วดี กันเอาเองนะครับ เหตุเพราะเป็นหรือตายก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลครับ ไม่มีใครทำแทนกันได้ แต่อย่างน้อยก็ดันกันมาจนถึงขั้นตอน ต้องอยู่กับเจ้าไวรัสโควิด-19 ตัวนี้ต่อไปอีกนานพอสมควร ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่รอด ปลอดภัยมาถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 เพื่อรับการเปิดบ้านเปืดเมืองกันต่อไปนะครับ

(2) อยู่รอดด้านเศรษฐกิจ ถ้าเราย้อนกันลงไปปลายปี 2562 ประเทศไทยเราเองเจอปัญหากับดักเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แข่งกับชาวบ้านได้ยาก พึ่งพิงการท่องเที่ยวมากไป มีการลงทุนน้อยไป มีนวัตกรรมในการแข่งขันน้อย อยากไปแบบ 4.0 แต่ทำงานกันแบบ 0.4 เอะอะต้องมีสำเนาบัตรประชาชน?พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

พอเจอเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้นปี 2563 นักท่องเที่ยวจีนหายไป รายได้หดตัวอย่างรุนแรง พร้อมกับการ lock down เต็มรูปแบบ ผลคือเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง รัฐต้องเอาเงินงบประมาณมาจ่ายแจกในลักษณะเยียวยา ภาวะ Income shocked อันเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป ทำให้ธุรกิจรายย่อยขาดสภาพคล่อง เงินจะไปจ่ายหนี้ไม่มี ต่างก็งัดเอาเงินออม เงินที่ยังเหลืออยู่ออกมาปะทะประทังชีวิตกันไปก่อน

ทางการได้ออกมาตรการพักการชำระหนี้ชั่วคราว (แต่ดอกเบี้ยยังเดิน) โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ แช่แข็งฐานะความเป็นหนี้ไว้ แล้วเร่งให้มีการปรับโครงสร้างหนี้แบบปะผุกันไปก่อน เลื่อนตารางการชำระหนี้ จ่ายแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียว เลี้ยงงวดการผ่อนกันออกไปเป็นมาตรการเฟส 2 ต่อด้วยเฟส 3 จนที่สุดก็ต้องผ่อนผันกันจนสิ้นปี 2564

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของธนาคารกลางที่แถลงต่อสื่อมวลชนก็ระบุว่า การฟื้นตัวจะเริ่มชัดเจนกลางปี 2565 และจะกลับมาในระดับปี 2562 ก็ต้องประมาณต้นปี 2567 นั่นหมายความว่า การปรับโครงสร้างหนี้ต้องลากกันยาว ๆ อย่างน้อยก็ให้ข้ามปี 2565-2566 มาตการฟ้าส้มหรือที่เรียกว่าการปรับโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืนจึงเกิดขึ้นมา เช่น การให้ชำระหนี้ตามรายได้ที่จะกลับมาแบบ หน้าต่ำหลังสูง การปรับโครงสร้างหนี้แบบมีเงินใหม่มาเติม โดยให้มีแรงจูงใจ?ด้านการกันสำรอง การจัดชั้นหนี้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ว่า สถาบันการเงินยังมีความมั่นคง แข็งแรง ในระดับหนึ่งที่จะช่วยเป็นกำลังเครื่องยนต์ดันเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าร่องเข้ารอย ไม่หายหกตกหล่นไปบนเส้นทางยามต้องแข่งขันกับเพื่อนบ้าน แต่ความเป็นจริงสองเรื่องที่ยังเป็นความท้าทายคือ หนึ่ง จำนวนกิจการที่ต้องล้มหายตายจากเพราะไปต่อไม่ได้จำนวนหนึ่งจะทำกันอย่างไร หนี้เสียหนี้สูญที่ต้องตัดออกจากงบดุลสถาบันการเงินจะมีกี่มากน้อยตามมาตรฐาน?การบัญชีใหม่ที่ดุดัน เช่น Thai Financial Reporting Standards 9 (TFRS 9) สอง การใส่เงินใหม่ที่เรียกว่า Jump start ให้กับกิจการรายย่อยให้สามารถเปิดดำเนินการอีกครั้งจะทำได้ในวงกว้างแค่ไหน ถ้าคนยังเข้าไม่ถึงและใช้หนี้นอกระบบมากมาย หายนะในระยะต่อไปก็เป็นอะไรที่น่ากังวลมาก ๆ

ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เราต้องยอมรับความจริงว่า การกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 ในวงกว้างภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายอย่างแน่นอน ในทางการแพทย์ไทยต่างประเมินกันว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จะกลับมาเพิ่มสูงเกิน 1 หมื่นคนต่อวันอย่างแน่นอน และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นเกิน 150 รายต่อวัน ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่เผยแพร่ออกมาบ้างแล้วทั้งการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกหลายคลัสเตอร์ในภาคเหนือ เราได้เห็นการประกาศปิดตลาดหลายแห่ง และท้ายที่สุดนะครับท่านผู้อ่านทุกท่าน คำถามที่ผุดขึ้นมายามที่เรา ๆ ท่าน ๆ กำลังจะเข้าสู่โหมด “อยู่ให้เป็นกับโรคระบาด” จนกว่ามันจะกลายเป็นหวัดตามฤดูกาล เพราะว่า “โรคห่ากินปอดจาก Covid-19” นี้จะไม่หายไปจากชีวิตเราอย่างน้อยก็ในสองสามปีข้างหน้าอย่างจริงแท้แน่นอน พร้อม ๆ ไปกับการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจแบบปิด ๆ เปิด ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตนเองต่อไป อย่าไปออกความเห็นในเรื่องที่เป็นหน้าที่ของคนอื่น เพราะคนอื่นที่ว่า เขาคงไม่ฟังเราอยู่ดีครับ.. 555

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ