เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : อยู่ให้รอด​ มีความรู้​ กู้เงินได้​ ขายของดี​ มีความยั่งยืน​ ใครจะรอดจนถึงวันนั้น : วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2564

อยู่ให้รอด​ มีความรู้​ กู้เงินได้​ ขายของดี​ มีความยั่งยืน​ ใครจะรอดจนถึงวันนั้น

บทความในวันนี้เกิดจากการได้อ่านข่าวการบรรยายของอดีตท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไ​ทย ที่ระบุถึงระบบนิเวศ​น์ของการศึกษาไทยที่จะพัฒนาให้เท่าทันกับความต้องการของยุคสมัยในอนาคตนั้นมีความจำเป็นต้องมีการ​ รื้อ​ ปรับแต่ง​ และเสริมสร้าง​ ไม่ใช่แค่เพียงกติกา​ แต่ต้องมาตั้งแต่มุมมอง​ แนวความคิด​ ความมุ่งมั่น​ชัดเจน​ และการผลักดันอย่างสุดกำลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง​ ผู้เขียนมาสะดุดตรงคำที่ระบุในข่าวสารที่ว่า

“พรสวรรค์​นั้นมีกันทุกคน​ และโอกาสที่จะได้รับนั้นมันมีไม่เท่ากัน”

ข้อความข้างต้นต้องนับว่าเป็นเรื่องจริงแท้​ เป็นเรื่องที่ตอกย้ำในทุกเรื่องทุกมิติของสังคม​ เศรษฐกิจ​ การเมืองของประเทศ​เราโดยแท้​ ทุกวันนี้เรื่องที่ร้องกันตลอดถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน​ โดยเฉพาะคนค้าขาย​ตัวเล็กตัวน้อยที่ภาษาอังกฤษ​เรียกว่า​ Micro SMEs​ หรือ​ MSME (ในแวดวงการประชุมสากลจะอ่านสะกดคำนี้ว่า​ “มิสมี” ก็เป็นอันเข้าใจว่าหมายถึง​ MSME) ซึ่งถ้าเราได้มีโอกาสถอดหัวโขน​ หน้ากากทางสังคม​ ลงไปนั่งคุยแลกเปลี่ยนด้วย​ ทั้งท่านทั้งหลายและตัวผู้เขียนจะตะลึงกับวิธีคิด​ วิธีเอาตัวรอด​ ที่เราเรียกว่า​ ความคิดสร้างสรรค์​ ได้เป็นอย่างดี​ ตัวอย่างเช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว​ แบบบ้าน ๆ​ เวลาจัดใส่ถ้วยใส่ชามออกมาแล้วมันจะสวยสดงดงามยิ่ง​ ถึงแม้ว่าจะเป็นรถเข็น​ก็ตาม ​(ไม่เชื่อท่านดูรูปที่ผู้เขียนแนบมาแสดงครั้งนี้​พร้อมกับบทความ)​ แต่ทำไมการเจริญเติบโต​ การขยายกิจการ​ หรือการเข้าถึงแหล่งทุน​ แหล่งเงินเพื่อนำมาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์​ อันเกิดจากพรสวรรค์​มันถึงไปได้ยากเย็นในบ้านเรา​ และถ้าลงไปคุยลึก ๆ กับ​ MSME ของไทยเราจะพบว่า​ สิ่งที่เขาเหล่านั้นต้องการในเวลานี้และในระยะต่อไปคือ​
อยู่ให้รอด
มีความรู้
กู้เงินได้
ขายของดี
มีความยั่งยืน

ในช่วงแรกเมื่อเศรษฐกิจ​และธุรกิจ​ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ​จนต้องมีการสั่งหยุดกิจกรรม​ทางเศรษฐกิจ​ซึ่งก่อให้เกิด​ Income shock หรือหลุมรายได้ที่ทำให้กระแสเงินรับจ่ายมีปัญหาอย่างรุนแรง​ บางรายมีเงินออมเงินเก็บก็งัดออกมาพยุงตัวเอง​ จนกระทั่งการแพร่ระบาดรอบสาม​ เงินรองรังตรงนั้นน่าจะหมดไปแล้ว​ คำถามคือการเปิดและผ่อนผันให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​ปลายปี​ 2564​ จะพอช่วยให้เกิดการอยู่รอดเป็นจำนวนกี่มากน้อยโดยเฉพาะธุรกิจบริการ​ ร้านอาหาร​ และการท่องเที่ยว​ เชื่อกันว่าคงจะมีจำนวนการล้มหายตายจากไปไม่น้อย​

ในช่วงต่อมาก็คือ​ การสร้างความรู้ใหม่ในการรับมือ​ ทั้งความรู้เรื่องสุขอนามัย​แบบใหม่​ พร้อม ๆ ไปกับการหาแหล่งทุน​ แหล่งกู้ยืมเงิน​เพื่อเข้ามาเสริมสภาพคล่อง​ เพื่อเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้มีตารางการชำระหนี้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับกระแสเงินสดรับจ่ายอันใหม่​ อย่าลืมว่า​ การค้าขายแบบไม่สามารถพบเห็นต่อหน้าได้​ จะต้องทำอย่างไร​ ต้องเปลี่ยนวิธีทำอย่างไร​ ต้องมีระบบการวิ่งส่งของแบบไหน​ อย่างไร​ ความต้องการ​ และความพึงพอใจของลูกค้าคืออะไร​ เรื่องที่ไม่เคยคิดว่าต้องรู้ก็ต้องรู้ให้ได้​ จินตนาการ​ ความคิดสร้างสรรค์​ พรสวรรค์​ที่ตนเองคิดว่ามี​ ต่างก็งัดออกมาดำเนินการ​ จนกระทั่งถึงตอนนี้บางรายสามารถตั้งตัวได้​ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ล้มเหลวและต้องเจอกับภูเขา​แห่งหนี้ที่ทับถมอยู่จนยากที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้​ เพียงแต่ว่าเวลานี้มันยังมีมาตรการช่วยเหลือคุ้มครอง​ ชะลอไม่ให้หนี้เสียไหลลงมาอย่างเร็วและแรงเท่านั้น​ ทุกฝ่ายก็รู้แก่ใจว่า​ ถ้ายกมาตรการผ่อนผันออกไป​ คงมีตัวเลขที่สูงกว่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็นกันอยู่ในเวลานี้​

ถ้าเราย้อนไปในวิกฤติ​ปี​ 2540​ การเปิดท้ายขายของ​ การเกิดตลาดนัดขายของ​ ตลาดนัดขายของที่ “คนเคยรวย” เอาออกมาขายกันจะมีมากมาย​ มันคือการสร้างพื้นที่การค้าขายในระบบที่ต้องมีการพบเห็นต่อหน้า​ แต่ในเวลานี้​ MSME​ ของไทยเราต้องการตลาด​ ต้องการพื้นที่การขายของที่ต้นทุนถูก​ ไม่เสียเงินค่าเช่าหน้าร้านแพง ๆ​ มันเลยมาลงตัวที่​ platform การขายของแบบไม่ต้องพบเห็นกันต่อหน้า​ บวกด้วยระบบการชำระเงินที่ไม่มีค่าธรรมเนียม​ บวกด้วยระบบการวิ่งส่งข้าวของที่รวดเร็ว​ ทั้งสามเสาหลักคือ​ Platform​ + Payment​ system + Logistic system ได้ก่อให้เกิดการตอบสองต่อผู้บริโภคที่มีนิสัย “ต้องการเดี๋ยวนี้” ได้อย่างลงตัว​ เรื่องพวกนี้จะเห็นได้ว่า​ MSME ไทยก็ไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน​

เรื่องสุดท้ายคือ​ ถ้าเศรษฐกิจ​ไทยเริ่มกลับมา​ หน้าตา​ รูปแบบ​ เงื่อนไขการทำธุรกิจคงจะแตกต่างหลากหลายออกไป​ บางเรื่องคงยากมาก ๆ ที่จะกลับมาเหมือนเดิม​ เหมือนตอนก่อนเกิดการแพร่ระบาด​แบบปี​ 2562​ คำถามคือ​ MSME ไทยเราที่ผ่านความผิดปกติ​ สู่ความผิดปกติใหม่​ เข้าสู่ความผิดปกติที่คุ้นเคยจนเป็นสิ่งผิดปกติที่คุ้นชิน (New normal) จะยังคงดำรงต่อไปหรือไม่​ เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามันจะเป็นฝันร้ายของผู้คนในยุคสมัยหน้าก็คือ​ กฎกติกา​ ระเบียบวิธีการ​ มันจะไม่ยอมเปลี่ยน​ มันจะเปลี่ยนน้อยมาก​ ที่เลวร้ายคือมันกลับไปที่เดิม​ การทำงานแบบเช้าชามเย็นชามบนระบบอนาล็อก​ ทุกอย่างเซ็นสด​ ต้องมาให้เห็นต่อหน้า​ อำนาจอยู่ที่โต๊ะ​

แต่ในโลกการค้าขายมันเป็นแบบดิจิทัล เจ้าของกิจการเป็นคนไทยพักอยู่ในต่างประเทศ​ เปิดกิจการโดยขออนุญาต​ผ่านโทรศัพท์​เคลื่อนที่​ สั่งของจากเมืองจีนโดยไอเดียการออกแบบเป็นของตนเอง​ ส่งของให้ลูกค้าผ่าน​ platform ชำระเงินผ่านระบบของเงินบาทดิจิทัลของธนาคารกลาง​จาก​ wallet ของคนซื้อไปยัง​ wallet คนขายข้ามสกุลเงินได้โดยค่าธรรมเนียม​ต่ำสุด ๆ หรือแทบไม่มีเลย​ การออกใบกำกับภาษีไม่ต้องใช้กระดาษ​ เป็นข้อมู​ลเข้าไปในระบบอัตโนมัติ​และคนขายของยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารผ่าน​ Digital lending Application โดยไม่ต้องยื่นเอกสารอะไรอีกแล้ว​ การปะทะกันของ​ ไดโนเสาร์​ระบบเก่า​ กับอุกกาบาตดิจิทัลหลังโควิด-19 จะเป็นบทพิสูจน์​ว่า​ ใครจะสูญพันธุ์​ก่อนกัน​