เครดิตบูโรคืออะไร ตั้งมาเพื่ออะไร
เครดิตบูโร คือองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะรวมข้อมูลคนเป็นหนี้ ใครไปเป็นหนี้แบงก์ ใครไปเป็นหนี้นอน-แบงก์ จะมีองค์กรแบบนี้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลคนเป็นหนี้ ถ้าเปรียบเทียบ มันคือ “สมุดพกของคนเป็นหนี้” เหมือนว่าเราไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยนั้นหรือที่โรงเรียนนั้น แล้วก็จะมีสมุดพกเพื่อรวบรวมว่าคนนี้มีผลการเรียนเป็นอย่างไร มันก็เหมือนกันกับว่า คนนี้มีหนี้ที่ไหนบ้าง แล้วปฏิบัติหนี้แต่ละก้อน แต่ละที่อย่างไร องค์กรนี้ในต่างประเทศและในประเทศไทย เรียกว่า “เครดิตบูโร” ครับ
หลายท่านคิดว่าสาเหตุที่สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรขึ้น “บัญชีดำ” หรือที่ใคร ๆ เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “ติด blacklist” ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะ “เครดิตบูโร” จะมีหน้าที่ในการจัดเก็บ รวมรวบข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชะรำหนี้สินเชื่อ โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลให้แก่เครดิตบูโรเป็นรายเดือนทุกเดือน ทางเครดิตบูโรก็จะอัปเดตข้อมูลให้ในแต่ละเดือนไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 36 เดือน จำนวน 36 บรรทัด เรียงทับกันเหมือน “ขนมชั้น” เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ข้อมูลบรรทัดเก่าของเมื่อ 36 เดือนที่แล้วก็จะหายไป มิได้มีหน้าที่ขึ้น “บัญชีดำ” หรือ “Blacklist” อย่างที่เข้าใจกันครับ
เมื่อท่านขอกู้เงินหรือสินเชื่อแล้ว สถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน ภาระหนี้ที่มีอยู่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฏในเครดิตบูโรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ขอกู้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากท่านมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินอื่นครับ
เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดกล่าวอ้างกับท่าน แจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th ศึกษารายละเอียดข้อมูลเครดิตบูโรเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th