เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : หากเพิ่มรายละเอียดอีกนิดจะเกิดความสบายใจได้มากขึ้น : วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563

หากเพิ่มรายละเอียดอีกนิดจะเกิดความสบายใจได้มากขึ้น

ตามที่ได้มีการแจ้งข้อมูล​ในสไตล์​ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่ายของท่านผู้ช่วยผู้ว่าการสายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุถึงมาตรการ ผ่อนผันให้ลูกหนี้​ SME​ ที่ได้รับการพักการชำระหนี้/ชะลอการชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่จะครบกำหนด 6 เดือน ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ธปท.​ ซึ่งมีประเด็นสำคัญเป็นข้อๆในความคืบหน้าของการดำเนินการดังนี้
1. ลูกหนี้​ SME ที่ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวมีจำนวน 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ไม่รวมถึงกลุ่มสินเชื่อรายย่อยหรือพวก​ consumer loan ความเห็นเพิ่มเติมผู้เขียนคือหากจะมีการจัดทำตาราง​ 4 ช่องให้ชัดจะช่วยได้มากช่องที่หนึ่งระบุการแยกประเภทตามขนาดของ​ SME ตั้งแต่​ Micro ขึ้นมาจนถึงขนาดกลาง​ ช่องที่สองระบุจำนวนราย​ ช่องที่สามระบุยอดสินเชื่อคงค้าง​ ช่องที่สี่ระบุมาตรการช่วยเหลือที่ได้รับ​ เราก็จะเห็นภาพการกระจายตัวชัดเจนว่ากลุ่มใด​ ขนาดใด​ ด้วยวิธีการใดที่ได้รับการช่วยเหลือ
2. ธปท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) หลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด เนื่องจากลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาตรการวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลาการพักหนี้ไปอีก 3 – 6 เดือนแล้ว
ความเห็นผู้เขียน​ ข้อนี้นับเป็นข่าวดีแต่ก็ยังวางใจไม่ได้เพราะมี​ SME บางส่วนมีหนี้ทั้งฝั่งธนาคาร​พาณิชย์​กับสถาบัน​การเงินเฉพาะกิจ​ การครบกำหนดมาตรการ​ช่วยเหลือไม่เป็นเวลาเดียวกันจะช่วยให้มีเวลามากขึ้นในการหาทางออกในการปรับโครงสร้างหนี้​ ตรงนี้ควรจะระบุให้ชัดว่าเป็นจำนวนราย​ ขนาด​ จำนวนเงิน​ และมาตรการที่ได้รับการขยายเวลาออกไปคืออะไร​ เพื่อให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องสบายใจตามที่ได้รับข่าวในทางบวกว่า​ สี่แสนล้านตรงนี้ไปรอด
ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) อีกประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ธพ. ได้ติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานะและให้ความช่วยเหลือ พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่แสดงเจตจำนงว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ​ ตรงจุดนี้หากมีการขยายความให้ชัดว่า​ 9.5 แสนล้าน​ เป็น​ SME ขนาดไหน​ กี่ราย​ กี่บัญชี​ อยู่ในประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมใด​ ที่ได้กลับมาชำระหนี้ได้ (ขยายความอีกนิดว่าเป็นการชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขเดิมไม่เปลี่ยนแปลงหรือเงื่อนไขใหม่ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน) ข่าวดีนี้จะได้ขจัดความสงสัยใคร่รู้ของบรรดานักวิเคราะห์ว่า “เป็นข่าวที่น่ายินดียิ่งแบบสิ้นข้อสงสัย”
สำหรับลูกหนี้ของ ธพ. ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหรืออาจจ่ายได้บางส่วน ธพ. ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยมีหลายมาตรการมารองรับ ได้แก่ การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL รวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย​ ในจุดนี้ผู้เขียนคิดว่านี่คือการส่งสัญญาณ​ให้ผู้ที่อยู่​ใต้การกำกับดูแลเร่งดำเนินการ​เชิงรุก​ ในการปรับโครงสร้างหนี้​ มิฉะนั้นเหตุการณ์​เสียน้อยเสียยาก​ เสียมากเสียง่าย​ มันจะได้ไม่คุ้มเสียถ้าไม่เร่งดำเนินการ​ ถ้ามีตัวเลขรายละเอียดของกลุ่มนี้อีกนิดจะช่วยให้จินตนาการ​ในทางเลวร้ายว่าจะมี​ NPL​ มากมายก่ายกอง​นั้นลดลงไปอย่างแน่นอน​ เพราะว่าในเวลานี้กรอบการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหามีเครื่องมือที่หลากหลาย​ สถาบันการเงินก็มีหลังพิงในการทำงาน
พร้อมยอมรับว่าในช่วงดังกล่าวมีลูกหนี้เพียง 6% ของยอดสินเชื่อที่ได้รับการพักหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการติดต่อของ ธพ. หรือยังติดต่อไม่ได้​ ตรงจุดนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นการบอกถึงปริมาณความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดในระยะถัดไป​ เพราะการที่ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้นั้น​ ถือได้ว่าเป็นสัญญานไม่ดี​ หากจะมีข้อมูล​เพิ่มว่าเป็นสินเชื่อประเภทใด​ จำนวนราย​ จำนวนบัญชี​ เป็น​ SME ขนาดใดจะช่วยให้ใครหลายคนเบาใจมากขึ้นว่าน่าจะ “เอาอยู่”
“จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ธปท. จึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted)” จุดนี้ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างมาก​ มาตรการต้องไม่เหวี่ยง​แห​ แต่เลือกรักษา​ตามอาการ​ เพียงแต่การเข้ารักษาต้องเร่ง​ ต้องเร็ว​ เปิดเผยข้อมูล​ โปร่งใสให้เกิดการประเมินผลในระยะถัดไปได้​ เพราะถ้าเป็นข้อมูลในทางบวก​แล้ว​ มันก็เป็นข่าวดีที่ครบสมบูรณ์​ สิ้นข้อสงสัย​ กระจ่างใจในเวลาที่เริ่มระทึกใจจากปัจจัยเสี่ยงใหม่จากการชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบดาวกระจาย..
ขอความอนุเคราะห์ท่านที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในการสื่อสารเพิ่มเติมด้วยนะครับ