Digital Ploan คำย่อในเวลานี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลแบบดิจิทัล
ทันทีที่มีการเปิดตัว เกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ออกมา เพื่อส่งเสริมให้
1.ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ชัดเจน และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน ในส่วนนี้คนที่ทำงานด้านนโยบายสินเชื่อจะเรียกกลุ่มนี้ว่า lnvisible Banking Service หรือกลุ่มที่สถาบันการเงินมองไม่เห็นจึงไม่สามารถส่งมอบบริการทางด้านสินเชื่อด้วยต้นทุนและผลตอบแทนที่คุ้ม/มีกำไร ยังมีอีกพวกคือ Thin File Customers กลุ่มคือพวกที่มีประวัติ/ข้อมูลน้อยเกินไปที่จะทำการประเมินความเสี่ยงได้ คำถามคือด้วยกลไก กติกา และข้อมูลแนวจารีต (Traditional Data) ที่ใช้กันในปัจจุบันล้วนเป็นอุปสรรค/คือไม่มี/คือไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงในการให้กู้ แม้ว่าจำนวนเงินนั้นจะไม่ได้มากมาย เช่น ให้กู้ 20,000 บาทระยะเวลาคืนไม่เกิน 6 เดือน ดอกเบี้ยแพงก็ตาม
2.มีการประเมินความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจให้สินเชื่อ ความเสี่ยงที่ต้องมีการประเมินคือ
2.1 ลูกค้ารายนี้คือคนเดียวกันกับที่ตัวลูกค้าบอกว่าฉันคือคนนี้ หรือ Who are who you say you are
2.2 ลูกค้ารายนี้มีความสามารถในการหาเงินจากแหล่งไหน อย่างไร เอามาชำระหนี้ หรือ Ability to pay
2.3 ลูกค้ารายนี้มีความตั้งใจ/เต็มใจระดับไหนในการจะเอาเงินที่ยืมไปมาคืนให้เจ้าหนี้ตามสัญญา หรือ Willingness to pay
2.4 ลูกค้ารายนี้ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะให้เจ้าหนี้ถือเอาไว้กันการเบี้ยวหนี้หรือ กู้มือเปล่านั่นเอง
3.ส่งเสริมให้มีการนำเอาเทคโนโลยีแบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงานทุกขั้นตอนแบบชาญฉลาด แบบว่าตลอดเส้นทางการให้บริการเริ่มตั้งแต่ สมัครสินเชื่อ การแสดงตนของลูกค้า การพิสูจน์และยืนยันตัวตน ในตัวลูกค้า การให้ความยินยอม การตกลงเข้าทำสัญญา การลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินดิจิทัลหรือสมุดเงินฝากดิจิทัลเพื่อการรับโอนเงินกู้จากสถาบันการเงินผู้ให้บริการ
4.ส่งเสริมให้ใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นหรือ Alternative Data ที่สามารถจัดหามาได้และมีความเชื่อถือสูงมากๆ จากแหล่งต่างๆ เข้ามาใช้ในการประเมินความเสี่ยง เช่น ข้อมูลการโอนเงินชำระเงิน ข้อมูลจากการใช้สาธารณูปโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจะนำเอาข้อมูลนี้มาใช้ในระบบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และในประเด็นเดียวกันทางการก็ผ่อนผันให้สถาบันการเงินคนปล่อยกู้ไม่ต้องยึดติดกับสลิปเงินเดือน กระแสเงินเข้าออกผ่านบัญชีเงินฝาก ตามแนวจารีตที่ทำติดต่อกันมาบนความทันสมัยแบบดิจิทัล 0.4 ถึง 3.0 อีกต่อไปถ้าจะให้บริการสินเชื่อประเภทนี้
5. ส่งเสริมสถาบันการเงินที่ประสงค์จะให้บริการต้องดำเนินการยื่นขออนุมัติ อนุญาต ตลอดจนการรายงานต่างๆเพื่อการกำกับดูแลของหน่วยงานทางการ โดยมีทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ เกณฑ์ความสามารถ และเกณฑ์ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเอาข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาสินเชื่อ ตามสมมติฐาน ตามแบบจำลอง (Model)
เป้าหมายที่อยากเห็นคือ คนที่สถาบันการเงินมองไม่เห็นเพราะกติกาเก่าซึ่งประเมินไม่ได้ จะสามารถเป็นลูกหนี้เงินกู้ที่ดีในกติกาใหม่เพิ่มเติมนี้ได้อย่างเป็นสาระสำคัญในอนาคตดังความเห็นที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เช่น
ท่านผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากอย่างยิ่งว่า สินเชื่อประเภทนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถขอสินเชื่อบนฐานข้อมูลที่หลากหลายขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้สลิปเงินเดือนยื่นขอสินเชื่อ ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินก็สามารถใช้ข้อมูลของลูกค้าบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อประเมินความเสี่ยง อาทิ การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายได้หรือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ทางการได้ออกหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการเริ่มทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลดิจิทัลได้แล้ว โดยผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตสินเชื่อบุคคลอยู่แล้ว หากต้องการทำสินเชื่อบุคคลดิจิทัล จะต้องแจ้งมาที่ ธปท. และแสดงให้เห็นว่ามีระบบงานพร้อมรองรับ ก็สามารถปล่อยกู้ได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่มี ใบอนุญาตสินเชื่อบุคคล ก็สามารถขอใบอนุญาตทำธุรกิจสินเชื่อบุคคล เพื่อทำธุรกิจนี้ได้ ในกรณีที่มีความพร้อมเข้าเกณฑ์ที่กำหนด
ในฟากฝั่งของผู้ประกอบการธุรกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคลต่างออกมาตอบรับกับพัฒนาการครั้งนี้พร้อมไปกับการเปิดตัวในงาน Bangkok Fintech Fair 2020 อย่างคึกคัก ตัวอย่างเช่น
ผู้บริหารระดับสูง ของธนาคารพาณิชย์ ระบุว่าได้ศึกษาแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดยเตรียมความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและ ขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าในหลากหลายมิติ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคาร (Exiting client)
ด้านผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ได้ระบุว่า บริษัทมีการศึกษาและวางระบบ เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ไว้แล้ว อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อออนไลน์เต็มรูปแบบ 100% ยังต้องรอเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) รวมถึงในเรื่องลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) กระบวนการการปล่อยสินเชื่อ และการบริหารจัดการความเสี่ยง ให้สอดรับกับอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เราได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ไว้รองรับแล้ว
สำหรับคู่แข่งอีกรายซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด Consumer banking ก็ระบุว่าการปล่อยสินเชื่อ เราจะต้องมีการพิจารณาจากข้อมูลด้านอื่นๆ หรือเรียกว่า Information based lending ประกอบด้วย เช่น วิเคราะห์ประวัติการซื้อสินค้าออนไลน์ การชำระค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
แน่นอนว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2563 นี้เราๆ ท่านๆ จะได้เห็นการพัฒนาระบบร่วมกับแบบพันธมิตรระหว่างธุรกิจซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) รายใหญ่ กับธนาคารพาณิชย์เพื่อร่วมกันปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัล
“เราจะเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ซื้อหรือเป็นผู้ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตร โดยการเข้าไปเป็นทางเลือกในการชำระเงินค่าสินค้า จากเดิมที่ลูกค้าจะชำระผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ก็จะมีการเพิ่มเป็นสินเชื่อให้ลูกค้ามีเงินไปจ่ายหรือไปซื้อของมาขาย”
COVID-19 คือตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาจริงๆ เรื่องที่คุยกันไม่ตกผลึกเช่น e-KYC e-Consent e-Signature e-Contract การให้บริการแบบไม่พบเห็นต่อหน้า หรือเรื่องข้อมูลทางเลือกก็เกิดขึ้นได้ ย้อนหลังไปให้หวนนึกถึงคำมั่นของวิทยากรทั้งหลายทั้งปวงในวันเปิดตัวสมาคมฟินเทคประเทศไทยที่เวทีแถวถนนรัชดาภิเษก ต้องขอบคุณโรคระบาดในปลายปี 2019 จริงๆ ที่มาผลักดันคำพูดในหลายปีก่อนมาเป็นจุดเริ่มที่จะเป็นจริงในปี 2020