เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) วันที่ 20 พฤษภาคม 2562
“การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรกับการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ความเข้าใจคนละเรื่องเดียวกัน”
โดย คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
คลิกอ่านได้ที่ https://www.posttoday.com/finance/money/589535
เหตุที่ผมต้องลุกขึ้นมาเขียนเรื่องนี้ก็เพราะเหตุว่าในการประชุมรับฟังความเห็นเรื่องกฎระเบียบที่จะออกมากำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินประเภทหนึ่งในประเทศไทยให้มีความระมัดระวัง มีมาตรฐานมากขึ้น ป้องกันความเสี่ยงในเรื่องหนี้เสีย และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ฝากเงินเพราะเหตุว่าตัวเลขสินเชื่อที่สถาบันการเงินประเภทนี้ได้ปล่อยออกไปให้กับครัวเรือนไทย ภายใต้คำนิยามหนี้ครัวเรือนไทยมีจำนวนถึง 2ล้านล้านบาท สถาบันการเงินดังกล่าวคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครับ ด้วยความเคารพทุกท่าน สิ่งที่ผมใคร่ขอนำเรียนเป็นข้อมูลต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหรือองค์กรที่ผมสังกัดนะครับ ผมมีข้อมูลมาลองชวนคิด จะเห็นด้วย เห็นต่างก็เป็นสิทธิ์ของท่านผู้อ่านนะครับ ข้อมูลมีดังนี้ครับ
1.การที่เราจะตัดสินใจให้กู้กับใครโดยเงินที่เอามาให้กู้นั้นมันไม่ใช่เงินของเรา แต่เป็นเงินที่ผู้คนทำมาหาได้ด้วยความลำบากและเขาหวังพึ่งความรู้ความสามารถเราให้ช่วยดูแล เขาได้ส่งผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจมากับเงินฝาก เพื่อให้เรามาหาประโยชน์ผ่านบริการให้กู้ เราคนนั้นต้องมีความรับผิดรับชอบเยี่ยงผู้บริหารสถาบันการเงินโดยทั่วไปหรือไม่
2.เราในฐานะบุคคลหรือคณะบุคคลในรูปกรรมการเงินกู้ จำเป็นต้องรู้ข้อมูลหรือไม่ว่าสมาชิกที่มายื่นขอกู้ไม่ว่าเราจะรู้จักดีหรือไม่รู้จักก็ตาม เราต้องรู้ ควรจะรู้หรือไม่ว่าเขามีหนี้ทั้งหมดก่อนมาหาเราเท่าไหร่ เป็นหนี้อะไรบ้าง เป็นหนี้บ้าน บัตร รถยนต์ สินเชื่อบุคคลอย่างละเท่าไหร่ เป็นหนี้ที่ไหนบ้าง ที่สำคัญคือมีประวัติการชำระหนี้พวกนั้นเป็นอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา ผ่อนได้ปกติ มีการค้างชำระ มีการเคยค้างชำระแต่ตอนนี้โอเคแล้ว พักหนี้ที่ไหนบ้าง ถูกดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่ มีหนี้บางบัญชีถูกโอนขายไปหรือไม่ มีการปรับโครงสร้างหนี้บัญชีไหนบ้าง ปรับเมื่อไหร่ หลังปรับผ่อนเป็นอย่างไร
3.ข้อมูลตามข้อ 2. คือข้อมูลเครดิตครับ ภาษาชาวบ้านคือ ข้อมูลเครดิตบูโร ข้อมูลบูโรนั่นเอง ข้อมูลนี้ปัจจุบันมีสมาชิกของเครดิตบูโรที่เป็นสถาบันการเงินจำนวน 99 แห่ง ทั้งส่งเข้ามาในระบบ และใช้ข้อมูลไปเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ ความตั้งใจในการชำระหนี้ของคนที่มายื่นขอกู้ และในจำนวนนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ 3 แห่งเป็นสมาชิกเครดิตบูโรครับ
4.ทีนี้การได้มาซึ่งข้อมูลเครดิตบูโรนั้นจะทำได้ 2แบบครับคือ
4.1 เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องส่งข้อมูลลูกหนี้และบัญชีเงินกู้ที่ตนเองอนุมัติเข้าระบบทุกเดือน เวลาจะดูข้อมูลใคร คนๆ นั้นต้องให้ความยินยอมและมีธุรกรรมการขอสินเชื่อ จะเที่ยวไปแอบดูแอบเช็คไม่ได้ ใครไม่ทำตามกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวก็มีโทษถึงติดคุกติดตะราง วิธีนี้คือทางตรง สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ยังมีข้อกังวลสารพัด แม้ว่าทางการจะขอให้เครดิตบูโรลดเงื่อนไขไม่คิดค่าสมาชิกเป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันที่เป็นสมาชิกก็ตาม
4.2 สหกรณ์ออมทรัพย์ที่จะพิจารณาคำขอกู้ กำหนดให้คนที่มายื่นคำขอกู้ไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง ตามช่องทางที่มีอยู่ รายละเอียดดูได้ที่ www.ncb.co.th จากนั้นให้นำเอาข้อมูลรายงานเครดิตบูโรนั้นมายื่นพร้อมกับคำขอกู้ เพื่อให้กรรมการเงินกู้มีข้อมูลตามข้อ 2 ใช้ในการพิจารณาตัวคนขอกู้ว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
5.การเป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะมีประโยชน์ต่อระบบการเงินครับ เพราะสถาบันการเงินอื่นเขาก็จะลดความเสี่ยงลงเพราะว่าคนที่ขอกู้ เขาก็วิ่งขอกู้ไปทั่ว ทีนี้ถ้าสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสมาชิกก็ส่งข้อมูลลูกหนี้เข้ามาในระบบ พอคนนี้ไปกู้ที่อื่น ที่อื่นนั้นก็จะเห็นว่าอ้าว.. คนนี้มีหนี้อีกหนึ่งที่คือสหกรณ์ออมทรัพย์ การจะให้กู้ไม่ให้กู้ก็เป็นเรื่องของเจ้านั้นว่าจะคิดอย่างไร แต่ตัวสหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะไม่อยากแชร์ข้อมูลลูกหนี้ตัวเองก็ได้ นานาจิตตังครับ
6.มันเป็นไปได้หรือไม่ครับ ผมสมมติเหตุการณ์ว่า กรรมการเงินกู้ไม่อยากได้ข้อมูลตามข้อ 2 มาดู เพราะรู้ดีว่าลูกหนี้กู้เงินขาประจำนั้นเป็นอย่างไร อาจจะมีหนี้เยอะแต่ไม่เคยค้างเพราะหักเงินเดือนไว้แล้ว ส่วนจะพอกินพอใช้หรือไม่ ไม่เกี่ยว อาจจะมีประวัติค้างชำระ หรือเป็นคนเคยค้าง หรือมีตำหนิอย่างใดอย่างหนึ่ง การไม่มีข้อมูลพวกนี้ก็ทำให้การอนุมัติมันก็อยู่บนพื้นฐานว่า ก็ในเวลาพิจารณามันมีข้อมูลแค่นี้ เท่านี้ ดังนั้นการตัดสินใจของเราก็รอบคอบเท่าที่ข้อมูลมีอยู่
ถ้าเป็นตัวผม ผมก็กลัว กลัวคนฝากเงินครับ กลัวเขามาด่า กลัวเขาจะมาฟ้องให้เรารับผิดว่า ก็ถ้ามีข้อมูลเครดิตบูโรแล้ว เห็นลูกหนี้ที่มาขอกู้ อาการขนาดนี้แล้ว ยังอนุมัติให้กู้ เหตุเพราะหักเงินเดือนได้ก่อนแล้ว ถ้าเกิดเป็นหนี้เสีย หรือถูกฟ้องจากที่อื่นแต่ยังให้กู้อยู่ มันก็หมิ่นเหม่ใช่หรือไม่ ดังนั้นการไม่มีข้อมูลชุดนี้ในข้อมูลการพิจารณาให้กู้หรือไม่ตั้งแต่ต้น มันจะเป็นบวกกับคนพิจารณาหรือไม่ มันจะเป็นบวกกับคนฝากเงินที่เขาไว้ใจเราหรือไม่ อันนี้ข้อตั้งเป็นคำถามที่รอคำตอบนะครับ
ข้อมูลตามสื่อที่สะท้อนออกมาระบุว่าความกังวลของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ว่า
…. สำหรับผู้กู้จะต้องเข้าระบบตรวจสอบเครดิตบูโร ก่อนปล่อยกู้ จึงเป็นข้อกังวลด้วย โดยสหกรณ์ได้ใช้วิธีตรวจสอบดูแลกันเอง เพราะกรรมการ กับสมาชิก รู้จักกัน ใครฐานะการเงินเป็นอย่างไร เป็นหนี้ที่ไหนบ้างจึงไม่เห็นความจำเป็น ที่สมาชิกต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเครดิตบูโร…
ขอเรียนอีกครั้งนะครับ ถ้าเป็นสมาชิกตามข้อ 4.1 ไม่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิกเป็นเวลา 3ปี เสียแต่ค่าดูข้อมูล 12บาทต่อครั้ง แต่ถ้าเลือกแบบ 4.2 คนยื่นขอกู้เป็นคนเสียค่าใช้จ่าย (กฎหมายกำหนดให้เสียไม่เกิน 200บาทครับ) ตัวสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ
ทิ้งท้ายครับ คำโบราณพูดไว้เสมอว่า รู้หน้า ไม่รู้ใจ หรือจิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง คำว่ารู้จักกันในนิยามเดิมแบบไทยๆ จะเอาอยู่หรือไม่กับหนี้ครัวเรือนในยุคสมัยนี้ หรือคำสมัยใหม่ มีข้อมูลยิ่งเยอะยิ่งลดความเสี่ยง
ท่านผู้อ่านลองใจนิ่งๆ ไม่คิดเราคิดเขา ไม่คิดเล็กคิดน้อย คิดอย่างเดียวถ้าเป็นเงินครอบครัวเราแล้วเราจะเอาไปให้ใครเขากู้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือเป็นมิตร เราควรขนขวายให้มีข้อมูลตามข้อ 2 ข้างต้นมาดูประกอบหรือไม่ มันยากลำบากมากมายหรือไม่ในการหามาดู ฝากในอ้อมอกอ้อมใจของคนที่ถูกเรียกขานว่า ผู้บริหารองค์กรครับ