เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : “เริ่มต้นปีใหม่… จะอย่างไรก็จะต้องการกู้เงิน” www.posttoday.com วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2563

เริ่มต้นปีใหม่… จะอย่างไรก็จะต้องการกู้เงิน

บทความของผู้เขียนวันนี้ขอเริ่มจากมีผู้คนส่วนหนึ่งได้โพสต์​ข้อความเพื่อขอความเห็น​ คำแนะนำ​ หรือคำชี้แนะจากเพื่อนๆในสื่อสังคมออนไลน์​ ข้อความที่ถามในช่วงเวลาเริ่มต้นปีใหม่ชุดนี้มีความน่าสนใจในหลายประเด็น​ เหมาะควรกับการนำมาเสนอ​ข้อคิดเห็น​ แต่อย่าถือเป็นข้อแนะนำเลยนะครับ​ เผื่อว่าใครบางคนที่กำลังเจอเรื่องราว​ที่ใกล้เคียง​กันจะได้นำไป​ใช้ประโยชน์​กันต่อไป

คำถามที่เป็นกระทู้เริ่มต้นว่า

… เนื่องจากผมวางแผนจะกู้เงินจากธนาคารเพื่อไปซื้อบ้าน พอได้ไปเช็กเครดิตบูโรมาด้วยตัวเองจากศูนย์ตรวจเครดิตบูโรที่บีทีเอสอนุสาวรีย์​ชัยสมรภูมิ​ พบข้อมูลในรายงานเครดิตบูโรว่า
1.ยังมีภาระผ่อนบ้าน เดือนละ​3,000 กว่าบาท และ
2.มีข้อมูลรายงานการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต ของธนาคารอีกแห่งหนึ่งแต่ก็ได้ผ่อนชำระตามสัญญาปรับโครงสร้าง​หนี้​ดังกล่าวตรงกำหนดมาตั้งแต่ปี 2560
3.ส่วนสินเชื่อบ้านตามข้อ​ 1. ตอนนี้ได้ไปปิดยอดหนี้แบบปิดบัญชีแล้วมาเมื่อวานนี้ และ
4.กำลังจะรวมเงินอีกก้อนไปปิดยอดปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตตามข้อ​ 2.ให้หมดเรื่องหมดราว

คำถามคือ ไม่ทราบว่าพอที่จะมีธนาคาร ใดรับเงื่อนไขคนยื่นขอกู้ที่มีประวัติการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตแต่ว่าได้ปิดบัญชีแล้วอยู่บ้างไหมครับ และคำถามที่อยากรู้มากคือหลังจากปิดบัญชีปรับโครงสร้างหนี้แล้วต้องรอระยะเวลานานแค่ไหน​ มีคนบอกว่าระยะเวลาดูใจอาจจะนานเป็นปีเลยอ่ะครับ ผมทำงานบริษัทครับ เงินเดือนรวมพิเศษก็ได้เดือนละ​ 60,000 บาท​ รบกวนใครพอจะมีคำแนะนำด้วยนะครับ… โพสต์เมื่อ​ 4 มกราคม​ 2563​

ในความเห็นของผมขอตอบดังนี้นะครับ
1.ถ้าปิดบัญชีสินเชื่อบ้านที่มีอยู่แล้ว​ การยื่นขอสินเชื่อไปซื้อบ้านหรือคอนโดอีกครั้ง​ ควรต้องสอบถามเงื่อนไขให้ชัดเกี่ยวกับการวางเงินดาวน์​นะครับว่าจะโดน​ 5%หรือ​ 20%ตามมาตรการป้องกัน​การเก็งกำไรของทางการหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ามาตรการ​ LTV
2. จากนั้นให้ถามต่อว่าบ้านหรือคอนโดที่เราอยากได้นั้นจะต้องผ่อนเดือนละเท่าไหร่​ เพื่อเอามาเปรียบเทียบกับรายได้(ซึ่งอาจจะถูกหักรายการที่ไม่แน่นอนออกไป)​ เราลองเทียบดูว่า​ ยอดผ่อนต่อเดือนเทียบกับรายได้มันคิดเป็นกี่​ % ถ้ามันเกิน​ 50%แล้วหล่ะก็​ ก็ต้องคิดว่ามันจะต้องบริหารอย่างเข้มงวด​เพราะมันยังอาจจะมีหนี้อย่างอื่นในอนาคตที่จะต้องผ่อนรายเดือนเช่นหนี้บัตรเครดิต(อีกครั้ง)​หรือหนี้ผ่อนของจากสินเชื่อส่วนบุคคล และถ้ามันเกิน​ 70%ของรายได้​ คงต้องบอกว่ายากที่จะได้รับอนุมัติในเวลานี้​
3. คนที่มีบัญชีปรับโครงสร้าง​หนี้​ในประวัติของตนเองนั้น​
3.1 หากปิดบัญชีแล้วรหัสสถานะบัญชี​จะเปลี่ยนเป็น​ ปิดบัญชี​ และข้อมูลที่ระบุวันที่ปรับโครงสร้างหนี้​ หรือ​ TDR date ก็จะหายไป​ อันนี้จะเหมือนกับปิดบัญชีปกติ
3.2 แต่ถ้าหัวบัญชีนั้นชื่อ​ บัญชีปรับ​โครงสร้างหนี้แล้วล่ะก็​ แม้ว่าจะปิดไปแล้ว​ ก็ต้องเตรียมตอบคำถามนะครับว่าเหตุใดจึงต้องไปปรับโครงสร้างหนี้
3.3​ แต่ถ้ายังไม่มีการปิดบัญชีปรับ​โครงสร้าง​หนี้​ แม้ว่าผ่อนได้ดีไม่มีผิดนัดชำระ​ คนให้กู้จะดูว่า​ บัญชีนี้เปิดมานานหรือยัง​ เทียบเวลาตั้งแต่วันที่เริ่มสัญญา​ปรับโครงสร้าง​หนี้จนถึงปัจจุบัน​นี้เกินกว่า​ 12เดือนหรือ​ 24เดือนแล้วหรือยัง​ ยิ่งถ้ายังไม่เกิน​ 6เดือนเทียบกับปัจจุบัน​ก็ต้องเรียนว่าค่อนข้างยากนะครับในการได้รับอนุมัติ​ จะยกเว้นเรื่องเวลาดูใจพวกนี้ก็ต้องพึ่งธนาคารของรัฐที่เรียกว่าสถาบันการเงินเฉพาะ​กิจนะครับ​ เงื่อนไขจะผ่อนปรนกว่า​ แต่จะใช้เวลานานนิดนึงนะครับ
4.สุดท้ายครับ​ คิดภาระที่ต้องผ่อนทุกสิ่งอย่าง​ ย้ำนะครับว่าอย่าหลอกตัวเอง​ เอายอดหนี้ครับเทียบกับรายได้​ คำน​วณ​ออกมาเป็น%ครับว่าเกิน​ 70%ของรายได้ไหม ถ้าเกินก็เหนื่อยครับ​
5.สุดท้ายของสุดท้ายเอายอดผ่อนทั้งปวงลบออกจากรายได้​ ซึ่งจะได้เป็นเงินเหลือในการใช้จ่ายรายเดือน​ เอาตัวเลข​ 30วันไปหารดูครับ​ นั่นแหละ​ครับคือเงินรายได้สุทธิจากหนี้ทั้งปวงที่เราจะใช้ยังชีพ​ กินอยู่ต่อวัน​ ถ้าตัวเลขมันคือ​ 300บาทต่อวัน​ ชีวิตเราก็จะเท่ากับ​ “ทำงานหาเงินเป็นมนุษ​ย์ออฟฟิศ​หากแต่ใช้ชีวิตดั่งกรรมกรรายวัน”
เป็นข้อมู​ลเอาไปลองคิดต่อนะครับ
ขอบคุณครับที่ติดตาม