น้ำใสไหลเย็นในระบบนิเวศทางการเงินใหม่
บทความวันนี้ผู้เขียนอยากชวนท่านผู้อ่านมองออกไปในปี 2563 ซึ่งกำลังจะเข้ามาในอีกไม่ช้า ในเชิงของการพัฒนาในการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ของสถาบันการเงินที่ทำงานร่วมกับบริษัทเกิดใหม่ที่มีความคิดดีๆ (Start up/FinTech) ของสถาบันการเงินที่ทำกับบริษัทเทคโนโลยี (TechFin) และท้ายสุดคือบริการทางการเงินที่ให้บริการโดยบริษัทเทคโนโลยี(TechFin) ที่ไม่มีสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เหตุปัจจัยที่ผู้เขียนตั้งเป็นประเด็นนั้นมันมาจากจุดเริ่มต้นดังนี้ครับ
1. ผู้ใช้บริการทางการเงินในยุคหน้าคือคนที่ใจร้อน ต้องการรู้ ต้องการเปรียบเทียบ ตัดสินใจเร็ว ต้องการที่จะทำธุรกรรมทันทีด้วยตนเอง ถ้าไม่รู้วิธีทำก็ต้องมีกระบวนการบอกกล่าวที่ทำให้เขาหรือเธอคนนั้นเรียนรู้และทำได้ในเดี๋ยวนั้นด้วยตัวเอง อาการต้องทำเดี๋ยวนี้คือสิ่งที่ทำให้สถาบันการเงินในรูปแบบปัจจุบันปวดหัว ต้องลงทุนมหาศาล และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนลดเลิกการมีอยู่ของสาขาลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
2. บริการทางการเงินต้องไปอยู่บนโทรศัพท์มือถือ คือไปอยู่บนอวัยวะที่ 33 ของผู้คน หรือมันได้กลายเป็นปัจจัยที่ 3.1 ก่อนยารักษาโรคซึ่งเป็นปัจจัยตัวที่ 4 ไปแล้วก็ว่าได้ ดังนั้นการจัดการเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยในตัวอุปกรณ์และการรักษาความลับ ความปลอดภัยของเนื้อหาข้อมูลในอุปกรณ์ยิ่งต้องเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมเป็นทวีคูณ
3. กระเป๋าเงินหรือ Wallet จะกลายเป็นทุกสรรพสิ่งหรือไม่ การที่ต้องมีบัญชีของธนาคารหลายที่หลายแห่งจะยังคงจำเป็นหรือไม่ bookbank พี่ที่มักจะหาไม่เจอเวลาที่ต้องการใช้เบิกถอนฝากโอนหรือชำระยังจำเป็นอีกหรือไม่ ถ้าเรามีกระเป๋าเงินในโทรศัพท์มือถือ มีการเติมเงินเข้ามาจากแหล่งรายได้ หากตัวเลขติดลบก็สามารถใช้ได้ถ้ามีการเติมเข้ามาให้ใช้ต่อได้ด้วยสินเชื่อ ผลประโยชน์จากการมีเงินค้างในกระเป๋าเงินคือดอกเบี้ย คูปอง ถ้าในอนาคตทางการอนุญาตว่าเงินคงเหลือในกระเป๋าเงินคือเงินฝาก ไอ้ความยุ่งยากที่จะต้องผูกบัญชีเงินฝากรายธนาคารกับกระเป๋าเงินมันก็หมดความจำเป็น จริงแท้แล้วเงินที่หมุนทั้งหลายมันคือตัวเลขที่บันทึกบน server computer ที่มีความมั่นคงสูง ไม่สามารถเปลี่ยนได้ถ้าไม่มีธุรกรรมรองรับ มีสถาบันดูแล และตรวจสอบยืนยันได้ จริงแท้แล้วมันคือการผูกไว้กับความไว้วางใจหรือที่เรียกว่า Trust นั่นเอง
4. การพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนที่เราจะได้รับบริการและก่อนที่สถาบันคู่กรณีของเราจะให้บริการจะตั้งอยู่บน
(1)สิ่งที่เรารู้คนเดียวหรือ something you know เช่น ค่า Pin รหัสลับ
(2)สิ่งที่เรามีหรือ something you have เช่น email อุปกรณ์ของเรา โทรศัพท์ของเราเป็นต้น
(3)สิ่งที่เราเป็นหรือ something you are เช่นใบหน้าของเรา ม่านตาของเรา ลายนิ้วมือของเรา
ทั้งสามสิ่งข้างต้นจะมาตอบคำถามว่าตัวเราคือคนที่เราบอกว่าเป็นตัวเราหรือ you are who you say you are มันไม่จำเป็นต้องมาเซ็นชื่อต่อหน้าด้วยปากกาหมึกสีน้ำเงินที่เราเรียกว่าเซ็นสดอีกต่อไป เราได้เห็นชาวต่างชาติเช่น คนจีนใช้เทคโนโลยีจดจำและเปรียบเทียบใบหน้าก่อนทำธุรกรรมทางการเงินจนทึ่ง อึ้ง เสียว ไปแล้วใช่หรือไม่
5. สถาบันการเงินที่ยึดครองตลาดการให้บริการทางการเงินในปัจจุบันอาจมีจำนวนลูกค้าในระบบของตัวเองน้อยกว่าผู้ให้บริการที่เป็น TechFin จนต้องยอมร่วมมือกันในการทำธุรกิจ ภายใต้สูตร
“การเข้าถึงที่ตรงใจ กว้างขวาง ลึกล้ำ จำนวนมาก ทันสมัยเสมอกับความไว้วางใจของลูกค้า = บริการที่ตอบโจทย์ = รายได้และความอยู่รอดที่ยั่งยืน” ปี 2563 เราอาจเป็น Bank application ไปเป็นเมนูหนึ่งบน Super AppIication ของ TechFin ก็ได้ ก็เพราะธุรกรรมทางการเงินเป็นเพียงธุรกรรมหนึ่งเท่านั้นในธุรกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันแต่ละเดือนของผู้คน บริการทางการเงินต้องมารับใช้ความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่มาเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของลูกค้าอีกต่อไป “People need banking but Bank is not”
6. คนที่ทำหน้าที่คุมกฎ กติกา มารยาท ในการทำธุรกิจจะมึนๆ เพราะกฎหมายบอกให้กำกับดูแลตามประเภทสถาบัน มายาวนาน หากแต่วันนี้ธุรกรรมที่เหมือนหรือคล้าย หรือคล้ายๆว่าจะเหมือน หรือเหมือนจนคล้าย หรือคล้ายจนแยกไม่ออกว่าเหมือนกันหรือไม่ มันไปอยู่กับสถาบันที่ตนเองอาจไม่มีอำนาจกำกับ มีอำนาจกำกับไม่พอ หรือไม่แน่ใจว่ามีอำนาจกำกับหรือไม่ นั่นยังไม่ยากเท่ากับจะหาเครื่องมืออะไรไปกำกับสถาบันเหล่านั้น และถ้าสถาบันเหล่านั้นเขาลุกขึ้นมาสู้เมื่อเวลาที่ลูกค้าเขามีความไว้วางใจหรือ Trust เท่าที่ให้กับสถาบันการเงินที่ตนเองกำกับเช่นธนาคารแล้ว มันจะเป็นอย่างไร
ผู้เขียนขอยกคำพุทธศาสนามาเป็นบทจบดังนี้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเหตุเพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนดีทั้งสิ้น ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมลง ดับไป อำนาจนั้นไม่มีอยู่จริง ตำแหน่งแห่งที่เป็นเพียงหัวโขน การยึดมั่นถือมั่นว่าฉันถือกฎหมายฉันถูกเสมอคือมายาคติ
ถ้าจะมีอะไรที่ผู้เขียนขอได้ในปีใหม่ผู้เขียนก็อยากจะขอคนในระบบนิเวศน์ทางการเงินยุคหน้าให้ปรับใจไหลไปตามเหตุปัจจัยดังเช่นน้ำไหลไปยังดินแดนที่แห้งแล้ง เพื่อคนที่หิวกระหายได้ดื่มกิน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือน้ำที่ไหลต้องไม่เป็นเพียงน้ำใสไหลเย็น (แต่ปนเปื้อนสารที่อันตรายซึ่งไร้สีไร้กลิ่น) แต่ต้องเป็นน้ำที่สะอาดกลั่นมาจากความบริสุทธิ์ใจที่มองเอาผลประโยชน์ของแผ่นดินถิ่นเกิดเป็นที่ตั้งมากกว่าความกลัวที่จะกลั่นผิดสูตรการทำน้ำสะอาดที่ชาวตะวันตกบอกให้เราเชื่อจนไม่อาจกลั่นน้ำสะอาดจากใจมาให้คนได้ดื่มกินยามหิวโหย
ขอบคุณครับ