พยามหายใจเข้าไว้ ในยามที่ทุกอย่างดูจะไม่ง่ายดังใจหวัง
ปรากฏการณ์หุ้นตก ตัวเลขเศรษฐกิจแทบทุกค่ายหลายสำนักฯ ต่างออกมาสะท้อนการชะลอตัวลง ค่าเงินบาทแข็ง พิษของสงครามการค้า การกีดกันทางการค้า การเปิดวิวาทะของนักการเมืองรายวัน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังหาทางลงไม่เจอ และอื่นๆอีกมากมาย ในช่วงเวลาปลายปี ช่วงเวลาของการจัดทำแผนงานสำหรับปี 2563 ซึ่งฝ่ายวางแผนต่างกุมขมับว่ามันจะทำให้ธุรกิจเติบโต ขยายตัวได้อย่างไร
ตัวผู้เขียนได้พบกับผู้นำองค์กรหลายแห่งแต่ประทับใจไม่หายก็มีท่านหนึ่งซึ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจสินเชื่อรายย่อยได้อย่างที่ ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องยกนิ้วให้ ท่านบอกผมว่า ในยามนี้สิ่งที่เราทุกคนจะต้องทำคือ
1. ไปออกกำลังกายด้วยการวิ่ง
2. นอนให้หลับ
3. ตื่นให้ได้ทุกเช้าและ
4. พยายามหายใจเข้าไว้
เรื่องอื่นๆไม่ได้มีอะไรสำคัญกว่าชีวิตเราค่อยๆทำไป ทำทีละเรื่อง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป….
เมื่อเอาข้อคิดที่ว่านี้มาเทียบเข้ากับภาพที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ฉายมาให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการที่ดอกเบี้ยถูกกดดันให้ต่ำเตี้ยมาเป็นระยะเวลานานๆแล้ว มันได้สร้างความกดดันไปยังคนที่ควรจะออมก็ไม่อยากออม คนที่ต้องการผลตอบแทนก็วิ่งไปหาสิ่งที่เป็นความเสี่ยง สิ่งที่หลอกลวง ด้วยการหลอกตัวเองว่า ยังไงฉันก็ไม่เสี่ยง ฉันจะหนีออกมาได้ทัน
ความเสี่ยงของสภาพการณ์และสิ่งที่เกิดในระบบการเงินโลก มีการออกมาระบุถึงมาตรการดูแลเสถียรภาพสำหรับตลาดพันธบัตร ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่อยู่ๆผู้กำกับดูแลก็ออกมาพูดถึงเรื่อง ตราสารหนี้/หุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ได้ออกมาขายให้กับนักลงทุน (ซึ่งมีความเสี่ยงสูง บ้านเราก็มีเรื่องแล้ว เช่น ตั๋วแลกเงินไม่มี Rating หุ้นกู้ไม่มี Rating แต่มีนักลงทุนก็เข้ามาลงทุน เหตุผลเพราะว่าต้องการผลตอบแทนเพิ่ม)
ในประเด็นนี้ผู้เขียนมีความคิดอย่างนี้นะครับว่า ประสบการณ์ “โลภบวกโง่” และแสวงหาผลตอบแทนโดยละเลยความเสี่ยงวันนี้มันจะได้กลายเป็นความปกติใหม่สำหรับบุคคลและองค์กรไปแล้วหรือไม่ มันเป็นระเบิดเวลาที่รอจังหวะหรือไม่..ขอทุกท่านกลับมาที่หลักการนี้นะครับ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ”
ในเรื่องหนี้ครัวเรือนก็เหมือนกัน เพราะมันคือ
(1)ภาพสะท้อนฐานะความมั่นคงด้านการเงินของครัวเรือน
(2)และในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันที่เรียกว่า Income shock เช่น เกิดการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาสงครามทางการค้า หรือเศรษฐกิจโลกชะลอ เกิดวิกฤตการณ์ร้ายแรงจนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องแล้วละก็ เหตุพวกนี้จะนำไปสู่ผลกระทบอีกมากมาย ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ ภาวะหนี้เสียและความมั่นคงในระบบสถาบันการเงิน
(3) โจทย์สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่จำนวนมากนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ของภาคธุรกิจ มีโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสอดคล้องกับตัวลูกหนี้เอง
ท่านผู้ว่าการ ยังได้กล่าวถึงความท้าทายสำหรับผู้ทำนโยบายและผู้กำกับดูแลทั้งโลก ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลายเป็นกลไกกำกับ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เช่น มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินหรือแม็คโครพรูเด็นเชียลที่มีบทบาทมากขึ้น แต่มีแรงต่อต้านกลับค่อนข้างแรง (อันนี้ผู้เขียนเห็นภาพการที่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบพยายาม “วิ่งสู้ฟัด” ทุกเวที มีการนำเสนอความเห็น ข้อมูลผ่านสื่อแบบเปิดหน้ากันเลย บางเวทีวิทยากรจากธนาคารกลางเจอกับวิทยากรจากภาคธุรกิจก็สู้กันด้วยตัวเลข ข้อมูล ความคิดความเห็นอย่างเผ็ดมัน ผู้เขียนขอสารภาพว่าเมื่อมีคำเชิญมาให้ขึ้นเวที ไม่ว่างานไหนก็ไม่เอาอีกแล้ว เปลืองตัว เปลืองหัวใจ เข้าใจคนออกนโยบาย เห็นใจคนทำธุรกิจ ทุกข์ใจแทนคนฟัง) เช่น ทุกวันนี้จะเห็นผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับมาตรการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) โดยไม่ได้กลับไปดูสาเหตุของการออกมาตรการและลืมเรื่องสินเชื่อเงินทอนไปแล้วด้วยซ้ำ”
พยามหายใจเข้าไว้ ในยามที่ทุกอย่างดูจะไม่ง่ายดั่งใจหวัง เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเรายังหายใจอยู่ ก็ให้กลับไปใส่ใจงานของตนเอง สนใจเรื่องของคนอื่น งานของคนอื่นน้อยลงไปบ้าง ชีวิตคงจะสามารถก้าวเดินต่อไปได้ครับ