บสย. ตัวช่วย SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อ
เมื่อคราวใดก็ตามที่มีการพูดคุย สัมมนาหรือประชุมวิชาการในเรื่องที่มีหัวข้อคล้ายๆกันว่า ในระบบเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น จะต้องทำกันอย่างไร จะต้องทำกันกี่มากน้อย เราถึงจะทำให้คนค้าขายตัวเล็กตัวน้อยหรือ SMEs เข้าถึงเงินกู้ เข้าถึงสินเชื่อ เหตุเพราะดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก แก้ยากเย็นแสนเข็ญ พูดกันมาตั้งแต่หลังวิกฤติการณ์ทางการเงินปี 2540
ประเด็นปัญหาฝั่ง SMEs คนขอกู้ก็จะพบว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ไม่เสื่อมลงและยังไม่แก้ไขคือ
1.ตัวเลขการรับการจ่าย การลงทุน หนี้สินส่วนตัว ส่วนของกิจการ มันคลุมเครือ มีหลายบัญชี ไม่มีระบบการจัดเก็บ รายงาน และไม่สามารถเปิดเผยชัดๆว่ามีอะไรบ้าง มีอยู่เท่าไหร่ มันอยู่ที่ไหน มันจึงบอกไม่ได้ว่าสภาพของ SMEs นี้ที่กำลังมายื่นขอกู้
มีกำไร มีเงินสดหรือ
มีกำไร แต่ไม่มีเงินสดหรือ
ไม่มีกำไร แต่มีเงินสดหรือ
ไม่มีกำไร ไม่มีเงินสด
เมื่อไม่ชัด มันก็ประเมินความเสี่ยงไม่ได้ เมื่อประเมินไม่ได้ มันก็ไม่มีใครกล้าให้กู้ เพราะเงินให้กู้มันมาจากเงินมีเจ้าของคือผู้ฝากเงิน
2.ไม่มีอะไรก็ตามที่พอจะมาเป็นหลักประกันได้เลย หรือมีหลักประกันก็ตีราคายาก ตีราคาออกมาแล้วได้มูลค่าหลักประกันที่ต่ำ เอามาเทียบกับเงินกู้ที่อยากได้แล้วมันไม่มากพอ มันมีสิ่งที่เรียกว่า ส่วนขาดหลักประกัน หรือมูลค่าหลักประกันที่ต้องการเพิ่มให้มากพอกับจำนวนเงินที่จะให้กู้ได้
หากแต่ว่ามันมีเครื่องมือในสถานะที่เป็นองค์กรลักษณะหนึ่งที่มาช่วยในการแก้ไขปัญหาในหลายประเทศ ซึ่งก็สามารถบรรเทาปัญหาการเข้าไม่ถึงได้ระดับหนึ่ง บางประเทศนั้น เครื่องมือตัวนี้ได้แก้ไขปัญหาลดลงไปได้มากพอสมควร เครื่องมือที่ว่านี้คือ การค้ำประกันสินเชื่อ เราๆท่านๆลองคิดนะครับ ถ้าเรายื่นขอกู้ 100 บาท มีแผนที่ดี คนให้กู้เข้าใจ ตัวเลขบัญน้ำ บัญชีพอไปได้ มีความถูกต้อง ครบถ้วนตามลักษณะธุรกิจ แต่มีหลักประกันไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้างเครื่องจักรอุปกรณ์ ยานพาหนะ ตราสินค้าต่างๆ ตีราคาออกมาแล้วได้เพียง 70บาท ดังนั้นสิ่งที่เป็นส่วนขาดของหลักประกันคือ 30บาท ตรงจุดนี้สำคัญครับ ถ้ามีองค์กรใดบอกว่า 30บาทนี้ฉันค้ำประกันนะ ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับหนี้เงินกู้ 100บาทที่จะทำให้ชำระคืนไม่ได้ และเจ้าหนี้ยื่นเรื่องให้ศาลฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ ขณะเดียวกันศาลได้ประทับรับฟ้อง(แต่ยังไม่ได้ตัดสิน)แล้ว ฉันยินดีที่จะจ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดในส่วนนั้นเอง แต่ต้องไม่เกิน 30บาทนั้นให้กับเจ้าหนี้ไปก่อนเลย แล้วฉันกับเธอก็ค่อยมาเคลียร์กันต่อไป
กลไกแบบนี้ในประเทศไทยก็มีครับคือ การค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ให้บริการโดยสถาบันที่ชื่อย่อว่า บสย. ชื่อเต็มคือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
บทบาทของบสย. นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นๆ ทุกๆวัน บสย. จะมีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจครับ คือทุนดำเนินการจะมาจากภาครัฐ แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเอาไว้รองรับความเสียหาย(ถ้ามี) จากการค้ำประกันสินเชื่อ กล่าวคือสินเชื่อ SMEs ที่สถาบันการเงินปล่อยไปนั้นเป็นหนี้เสีย เกิดการค้างชำระ จ่ายไม่ได้ สถาบันคนให้กู้ก็บังคับเอากับหลักประกันและก็เรียกให้บสย. จ่ายเงินที่ต้นเองค้ำประกันตามเงื่อนไข ขณะที่ทุนส่วนที่สองคือทุนที่เอาไปก่อประโยชน์จากการนำทุนไปลงทุน ดอกผลจากผลตอบแทนนั้นก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กร คือเอามาเป็นรายจ่ายด้านต่างๆขององค์กร เพื่อให้องค์กรเดินไปได้ สำหรับส่วนที่ไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับ SMEs นั้นก็ต้องมีรายได้ที่เรียกว่าค่าค้ำประกันสินเชื่อ แต่ด้วยที่ว่า SMEs นั้นมีภาระมากแล้วในเวลานี้ หลวงท่านจึงบอกว่าในช่วง 1ปีแรก 2ปีแรก หรือ 3ปีแรกนั้น หลวงจะออกค่าใช้จ่ายตัวนี้ให้แทน SMEs ไม่ต้องจ่าย ไม่ต้องเกี่ยวข้อง กลไกแบบนี้แหล่ะครับที่ประเทศเราต้องส่งเสริม สนับสนุน สร้างความเข้มแข็งให้กับ บสย. ให้มากขึ้น เพราะถ้าบสย. แข็งแรง ตัวใหญ่ มีกำลังมาก ก็จะมีพลังในการช่วยเหลือให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ในหลายประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เราจึงเห็นสถาบันประกันเงินสินเชื่อแบบบย. นี้มีขนาดใหญ่มาก
บสย. เวลานี้ ภายใต้การนำของคนหนุ่ม รุ่นใหม่ เข้าใจโลก ปรับตัวเร็ว มีคำตอบในโจทย์ของ SMEs ดังที่ผมได้กล่าวมา ผมมีความเชื่อมั่นว่าสุภาพบุรุษท่านนี้จะเป็นผู้นำที่นำพา SMEs ตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังต่อสู้กับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ที่กำลังปรับตัวตามโครงสร้างใหม่ให้เกิดความสำเร็จ มั่นคง ยั่งยืน