บทบาทการ “ติดดิน” ของธนาคารกลาง ธุรกิจมันก็ไปต่อได้
ท่านผู้อ่านเคยได้ยินได้ฟังข้อความที่มีผู้คนกล่าวถึงคุณค่าบางอย่างของการทำงานของผู้คนในองค์กรที่ต้องมีความเชื่อถือในระดับที่สูง ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณะมาก มากจนขนาดยอมออกมาเป็นปราการป้องกันการเข้ามาแทรกแซงจากภาคการเมืองได้ องค์กรแบบนี้เขามีปรัชญา แนวคิดการประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร ตัวอย่างหนึ่งของประเทศไทยเราคือ ธนาคารกลาง แนวคิดที่ได้มีการวางฐานคิดมาตั้งแต่ท่านผู้ว่าการรุ่นก่อนๆที่ว่า “ยืนตรง มองไกล ติดดิน และยื่นมือ” คือคำไทยๆ ที่มีความหมาย สิ่งที่ผู้เขียนขอนำมาเสนอในวันนี้คือคำว่า “ติดดิน” ซึ่งน่าจะหมายถึงการจะคิดจะทำอะไรต่อระบบนั้นจำเป็นต้องรับฟังจากทุกภาคส่วน เข้าใจว่าเขาเหล่านั้นทำอะไรกัน และทำไมเขาจึงต้องทำแบบนั้น มันคงไม่ใช่แค่ตั้งสมมติฐาน หาข้อมูล สร้างตัวแบบหรือ model และจัดทำผลสรุป และก็ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชม เหมาะสมครับท่าน แต่ต้องลงไปรับฟังจากผู้ประกอบการ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจไปคิด คิดแบบคนที่มีหัวใจมนุษย์คนหนึ่ง เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ และไม่ตกเป็นทาสของอคติว่า ที่คิดที่ทำนั้นดีที่สุดแล้ว เหมาะที่สุดแล้ว มันไม่มีทางผิดไปได้
+ คนที่ไม่เคยมีหนี้สิน ไม่เคยต้องขวนขวายทำงานหนักเพื่อให้ได้บ้านสักหลัง คอนโดสักห้องหรือ
+ คนที่ไม่เคยตัดสินใจว่าจะให้กู้หรือไม่ให้กู้กับใคร เคยแต่วิพากษ์วิจารณ์หลังจากเรื่องมันผ่านไปแล้วหรือ
+ คนที่ไม่เคยมีแรงกดดันทางธุรกิจ แรงกดดันจาก KPI ในเป้าหมายทางธุรกิจ
คนทำงานเหล่านี้ถ้าไม่เปิดใจรับข้อมูลจากคนที่ยื่นขอกู้ คนที่ทำธุรกิจสร้างบ้านขายบ้าน คนที่ต้องตัดสินใจให้กู้ไม่ให้กู้ เอาแต่คิดไปเองจากข้อมูลในมือ ที่สุดแล้วถ้าแม้นมันผิดจุดไปสักแห่ง มันเท่ากับไปลงโทษคนที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด
เมื่อผมได้ทราบว่า ธนาคารกลางได้ดำเนินการผ่อนผันผ่อนปรนการนับสัญญาเงินกู้ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ผู้กู้ร่วมไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะถือว่ายังไม่เป็นผู้กู้ จากเกณฑ์เดิมที่นับรวมผู้กู้ร่วมเป็นสัญญาแรก ซึ่งหากจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองจะถูกนับเป็นหลังที่ 2 และต้องวางดาวน์ 20% มากกว่าหลังแรกที่ 5-10%
ผลบุญจากดวงตาที่เห็นธรรมดังกล่าวนี้จะทำให้คนที่เข้าไปร่วมด้วยช่วยผ่อน (เฉยๆ) แต่ไม่ได้คิดจะไปเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนั้น ไม่ถูกลงโทษด้วยกติกาที่ออกมาป้องกันการเก็งกำไร เหตุเพราะคนที่ไปช่วยเขาเกิดอยากจะไปกู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด เป็นที่อยู่อาศัยสัญญาแรก จะได้ไม่ต้องเจอเกณฑ์เหมือนตนเองกู้เป็นสัญญาที่สอง มันเหมือนกับกรณีชาวบ้านเขาอยู่ในป่าของเขามาแต่อดีต พอประกาศเขตป่าสงวนภายหลัง กลายเป็นพวกเขารุกป่า อย่างนี้มันก็ดูเหมือนไม่ยุติธรรม
อีกประการหนึ่งคนที่ไปช่วยเขาผ่อนสัญญาแรกที่เรียกว่ากู้ร่วมนั้น ตอนเขาไปขอกู้บ้าง เขาต้องมีรายได้เหลือหลังหักยอดผ่อนที่ไปช่วยเขา เพื่อเอามาคำนวณยอดผ่อนต่อรายได้สำหรับเงินกู้ของเขาผ่านเกณฑ์คนให้กู้ซึ่งก็ไม่ง่าย การจะมาให้เขาไปวางดาวน์ที่สูงเหมือนเขามีเงินกู้บ้าน/คอนโดเหมือนสัญญาที่สองคงจะไม่แฟร์ ผู้เขียนจึงขอปรบมือให้กับ ผู้ประกอบการที่หยิบเอาปัญหาจริงๆมาเสนอขอให้แก้ไข มิใช่เสนอปัญหาที่จะเอาตัวรอดในเรื่องธุรกิจ แต่มันคือการช่วยคนที่อยากมีบ้านให้ได้บ้าน ขอปรบมือให้กับทางการ ธนาคารกลาง ที่ติดดิน ไม่คิดว่านี่คือการเสียหน้าว่าออกกฎบกพร่อง แต่เข้าใจเรื่อง ยอมปรับปรุงเพื่อให้คนที่ไปช่วยผ่อนหรือผู้กู้ร่วมได้มีโอกาสได้บ้านตามเกณฑ์ตามสิทธิที่พึงจะเป็น เรื่องดีๆแบบนี้จะเป็นบวกต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะจะช่วยบรรเทาผลกระทบของเกณฑ์ LTV ใหม่ต่อผู้ซื้อเพื่ออยู่จริง และผู้กู้ร่วมที่ตัองการซื้อบ้านของตัวเอง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้โมเมนตัมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของสำนักวิจัยหลักทรัพย์บางแห่งคาดว่า ผู้กู้ร่วมน่าจะมีสัดส่วนราว 20% ของตลาดรวม และพบมากในทาวน์เฮ้าส์ และกลุ่ม Mid-to-Low End (ราคาต่ำกว่า 3 ลบ.) ซึ่งต้องพึ่งพาเงินกู้ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น
ในสังคมบ้านเรามีคำกล่าวไว้ว่า Cost of Face สูงกว่า Cost of Fund หรือบางครั้งสูงกว่า Cost of Fact ดังที่ผู้เขียนเคยได้รับการกระทำในอดีต ไม่มีใครตำหนิท่านที่ออกกติกาเก่านะครับว่า ไม่มีเจตนากระทำผิด เพราะเนื้อแท้แล้ว ท่านไม่ได้กระทำผิดตั้งแต่ต้น ความสุจริตเป็นศาสตร์กำบังป้องคนทำงานเสมอ อันต่างจากใครบางคนที่แม้วันนี้ก็ยังขาดสำนึกว่ากระทำกับคนสุจริตจนเขาเจียนตายแต่เพราะมี Cost of Face จึงยังจะมีโอกาสกระทำผิดครั้งต่อไปได้อีก
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามนะครับ