คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
การทำงานภาคสนาม
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561
มองดูความตั้งใจและการทำงานภาคสนามบ้าง อย่าเอาแต่อยู่ในห้องแอร์แล้วติติง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสฟังการออกรายการของท่าน ผู้ที่บอกตัวเองและใครกับใครว่าฉันคือ นักวิชาการ ทำงานวิจัยมาสารพัด รู้เรื่องดีเกี่ยวกับคนที่มีรายได้น้อย มาให้ข้อมูลกับพิธีกรในรายการ ตินั่น ติงนี่ บอกว่าอันนั้นไม่น่าถูก อันนี้ไม่น่าจะทำ เรื่องนี้เสียเวลา เรื่องนั้นอาจไม่คุ้มค่างบประมาณบ้าง
ความรู้สึกผมในฐานะที่เป็นคนทำงาน ชอบทำงาน ชอบเจอกับปัญหาจริงๆ มากกว่าที่จะนั่งในห้องแอร์ แล้วอ่านงานวิจัยที่ทีมงานทำมาให้ จากนั้นก็คิดแล้วก็พูดออกมา
ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ การมีรายได้น้อยเกินไป บนคำถามที่มีมาในหลายสิบปีคือ
คนจนเรามีเท่าใด คนจนเราอยู่ไหน เขาหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาจนคืออะไร จะทำให้เขาพ้นจนจะต้องทำอย่างไร และท้ายสุดจะป้องกันไม่ให้มีคนจนมากกว่านี้ ใครจะต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร
ท่านนักวิชาการครับ ท่านยอมรับไหมว่าก่อนที่ทางการจะจัดให้มีการลงทะเบียน เราไม่มีข้อมูลชัดๆ แบบว่านาย ก. นาย [http://ข.เลขที่บัตรประจำตัวประชาชนคนนี้เป็นคนจนหรือไม่] ใช่หรือไม่ เรามีแต่ข้อมูลสำรวจสำมะโน หรือจากการส่งคนไปเก็บแบบสอบถาม ไอ้ฐานข้อมูลแบบจะๆ อย่างที่ทางการทำขึ้นมา 11.4 ล้านราย ทำแบบสเกลทั่วประเทศ จับต้องได้มีการคัดกรองด้วยเงื่อนไขเป็นชั้นๆ เท่าที่กฎหมายแบบ 0.4 จะอนุญาตให้ทำได้ เมื่อมีข้อมูลแล้ว การทำให้สมบูรณ์ขึ้น ดีขึ้น คัดกรองมากขึ้น ก็จะตามมาแน่นอนมันไม่มีทางสำเร็จในวันเดียว หนเดียว ครั้งเดียวแน่นอน แต่มันดีกว่า ที่ผ่านมาใช่หรือไม่ การมาติติงว่าบางกลุ่มอาจไม่มาลงทะเบียน หรือ บางกลุ่มเป็นคนที่พยายามจะจนเพื่อให้ได้สิทธิ โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้เงินสดจากการแจกมันเป็นเรื่องที่คนทำงานก็ทราบ แต่งานนี้มันคือการลงทะเบียนแบบสมัครใจ เขาไม่มา หรือเขาปลอมตัวมา มันคือนิสัย คือพฤติกรรมของผู้คนใช่หรือไม่ ท่านจะติติงไปถึงไหนกัน…ผมชอบคำพูดของคุณตูนที่พูดทำนองว่า “เขาชอบทำ เขาไม่ชอบพูด”
กลับมาที่โครงการนี้ครับ การบูรณาการงานหน่วยงานของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาความยากจนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมการให้สวัสดิการเท่าที่งบประมาณเอื้ออำนวย “ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” คือ เนื้องานที่ทางการกำลังเร่งดำเนินการ และยังมีเรื่องการทำวิจัยที่หา คำตอบในโจทย์พี่น้องประชาชน และการวัดผลบนตัวชี้วัดความสำเร็จ ที่เป็นรูปธรรมคือ การดำเนินการแก้ไขทำให้คนในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคนพ้นทุกข์ โดยการลดภาระค่าใช้จ่าย ต่อไปคือ การพัฒนาอาชีพให้มีรายได้มากขึ้น
“1 ปีนี้เป็นเวลาที่ไม่นานและก็ไม่เร็วเกินไป สำหรับความยากจนความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว แต่ เชื่อว่า 1 ปีที่เหลืออยู่นี้น่าจะทำได้หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเราจะ ยกระดับชีวิตของเขาได้อย่างไร”
ท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยตามสื่อมวลชนสิ่งที่ผมติดตามและอยากให้ท่าน [http:// งานทั้งหลายช่วยกัน ติดตามและไปร่วมด้วยช่วยกันกับภาครัฐก็คือ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน] เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งและยกระดับสถาบันการเงินชุมชนให้มีมาตรฐาน มีสถานะความเป็นนิติบุคคลให้สามารถออกกฎเกณฑ์ กำหนดเงื่อนไขตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกอย่างที่สถาบันการเงินอื่นทำไม่ได้ เช่น (ก) คุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขอกู้ยืมไม่ต้องตรวจเครดิตบูโร แต่ใช้ชุดข้อมูลอื่น เช่น การชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคแทนได้หรือไม่
(ข) ผู้ยื่นขอกู้ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินเดือน เพราะในชีวิตจริงท่านเหล่านั้นมีรายได้ไม่ประจำ เป็นต้น
(ค) เราจะสามารถมีสถาบันการเงินระดับฐานราก ระดับตำบลได้ประมาณ 7,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมี ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินเป็นพี่เลี้ยง โดยไม่ให้มีประเด็นปัญหาแบบสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งดังที่เป็นข่าวได้อย่างไร
(ง) การทบทวนพิจารณา พ.ร.บ.ขายฝาก เป็นอีกเรื่องที่เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง
มองดูความตั้งใจและการทำงานภาคสนามบ้าง อย่าเอาแต่อยู่ในห้องแอร์แล้วติติง มองดูคนที่ทำงานใช้มือ ใช้เท้า ใช้ใจ ทำงาน หากเรามองด้วยใจที่เป็นธรรม มันไม่ง่าย ไม่ง่ายเท่ากับอ่านงานวิจัยที่ทีมงานทำแล้วมาแสดงความคิดเห็นออกสื่อ …อย่างน้อยคนเราควรมีน้ำใจและน้ำคำที่ส่งเสริมกัน เพราะชั่วดีถี่ห่างก็คือไทยเราทุกท่านทุกคน
มันอาจถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปพฤติกรรมของนักวิชาการบ้างหรือไม่ ผมอยากเห็นนักวิชาการ 4.0 ครับ