คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ
“การปฏิรูปองค์กรจะเกิดได้ตั้งคำถามให้ถูก”
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2561
มีผู้คนถามผมมาอยู่ไม่น้อยว่า
(1) ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของกระแสการใช้ชีวิต วิธีคิดของผู้คน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความแตกต่างระหว่างผู้คน ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการมองสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันของผู้คนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ (Ecosystem) และในบางครั้งก็มีความสุดโต่งอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น
(2) ตัวเรา กิจการของเรา ความรับผิดชอบในองค์กรของเรา หรือกิจการ ที่เราดูแลบริหารจะไปรอดหรือไม่ จะ ล้มหายตายจากในช่วงเวลาที่ตัวเรา รับผิดชอบหรือไม่ ไอ้ที่เคยประสบความสำเร็จจะยังสำเร็จหรือไม่ จะเจอกับการเปลี่ยนแปลงจนไปต่อไม่ได้หรือไม่ จะถูกคุกคาม รบกวน หรือ Disrupt จากผู้เล่นหน้าใหม่ใจถึง (Start Up) จนยากที่จะประสบความสำเร็จเช่นเดิมหรือไม่
(3) แล้วอะไรคือคำตอบที่จะนำพาความอยู่รอดของตัวเรา องค์กรเรา ในยุคนี้ ยุคที่ความรู้ที่เคยมีมาในอดีตแทบจะเอามาใช้ต่อสู้ฟาดฟันในโลกธุรกิจที่เรากำลังลุยกันอยู่ในเวลานี้ให้ประสบความสำเร็จนั้นล้วนมีน้อยลงไปเรื่อยๆ
(4) การตั้งคำถามกับตัวเองกับองค์กรของตนเองอย่างถูกต้อง ไม่อ้อมค้อมกับความจริง ความเสี่ยง และโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าเราไม่ตั้งคำถามที่โหดร้ายเพียงพอ ความโหดร้ายเวลามันมาถึงมันอาจจะทำให้เราต้องเสียใจ ตัวอย่างเช่นคำถามที่ว่า “ในอนาคตผู้คนยังต้องการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่เขาจะไม่ต้องการธนาคารนะ” พอมาถึงเวลานี้ท่านผู้อ่านคงมองเห็นแล้วว่าเรื่องแบบนี้มันมาจริงๆ เช่น การโอนเงิน การชำระเงิน บางกรณีมันไม่ได้ทำโดยธนาคารอีกต่อไปแล้วเป็นต้น อีกตัวอย่างที่เราเห็นในประเทศไทยก็คือการตั้งคำถามของธนาคารขนาดใหญ่ที่ว่า “เราจะเป็นอะไรที่มากกว่าแบงก์ได้หรือไม่” ทั้งๆ ที่ก่อตั้งกันมาเป็นร้อยปีในรูปแบบที่เรียกว่า ธนาคารหรือแบงก์ก็ตาม
(4) คนทำงานในปัจจุบันที่ต้อง ขับเคลื่อนองค์กรจะเจอกับความโหดของผู้นำองค์กรในคำถามดังนี้
(4.1) อันไหนคือความคิดใหม่ๆ ที่คุณสามารถคิดออกมาได้ เพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรที่จ้างคุณมา
(4.2) ไอ้ความคิดใหม่ๆ ที่ว่ามาในข้อ (4.1) นั้นจะทำมันให้เป็นจริงได้ยังไง ไหนบอกมาเป็นขั้นเป็นตอนหน่อยได้ไหม
(4.3) เมื่อได้ข้อสรุปใน (4.1)+(4.2) แล้ว ช่วยบอกหน่อยว่าเมื่อไหร่มันจะเสร็จ เพราะเรารอไม่ได้ คู่แข่งกำลังหายใจรดต้นคอเราอยู่นะ
การตั้งคำถามที่ถูกเท่านั้นเราจึงจะรอด การตอบคำถามให้ถูกบนคำถามที่ผิด ถึงจะตอบถูกแทบทุกข้อ ผลของมันคือหายนะ ดังที่เราๆ ท่านๆ ก็เห็นมาไม่น้อยในหลายธุรกิจที่ล้มหายตายจากไปอย่างไม่น่าเชื่อ คำถามที่ “ถูกต้อง” ไม่ใช่ตั้งคำถามที่ “ถูกใจ” ผู้นำองค์กร องค์กรจึงจะไปรอดถ้าตอบคำถามได้ แต่ถ้าตั้งคำถามได้ถูกแล้ว หากยังตอบผิด ผู้นำองค์กร จะไปโทษใครไม่ได้แล้วนะครับ
การบริหารเศรษฐกิจที่มีโจทย์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในภาพใหญ่มันออกมาดี แต่ทำไมปัญหาความเหลื่อมล้ำมันดูจะไม่ค่อยดีเอาเลย ขณะเดียวกันผู้คนระดับล่างๆ ลงมา คนทำมาค้าขายทำไมจึงบ่นว่าขายไม่ดี ขายไม่คล่อง คนชั้นล่างลงไปอีกต่างอยู่ในภวังค์ชักหน้าไม่ค่อยจะถึงหลังกัน ประเด็นนี้จึงเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ในเชิงของการกำหนดจังหวะ ช้า-เร็ว-หนัก-เบา ในมาตรการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ที่กำลังถูกผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง เข้มข้นในเวลานี้และอนาคตอันสั้นครับ