คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ : การทำงาน ธปท. ต้องเร็วและกว้างขึ้น : วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2561

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

การทำงาน ธปท. ต้องเร็วและกว้างขึ้น

นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2561

“การทำงานของ ธปท.ใน 1 ปีข้างหน้าต้องเร็วและกว้างขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะปกติและสภาพคล่องลดลง และเรื่องสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ต้องติดตามความ ต่อเนื่องของโครงการลงทุน เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย”
          

คำกล่าวของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ได้แสดงให้เห็นถึงภาพของความท้าทายและความไม่แน่นอนในหลายสิ่ง เช่น การเมืองระหว่างประเทศจะมีผลมายังระบบเศรษฐกิจไทย การเมืองภายในประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป
          

แม้แต่เรื่องของสภาวะอากาศและสภาพแวดล้อมอาจจะมีผลกระทบกับเกษตรกรที่มีจำนวน 5.76 ล้านครัวเรือน มีสมาชิก 15.65 ล้านคน ถือครองที่ดิน 12.80 ล้านแปลง สิ่งสำคัญมากๆ คือ เกือบ 40% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปีต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ คือ รายได้ไม่ถึง 3.2 หมื่นบาท/ปี  หากเกษตรกรยังไม่ลืมตาอ้าปากได้ ตราบนั้นความมั่นคงยั่งยืนก็ยากที่จะเกิดในระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองได้
          

ท่านผู้ว่าการ ธปท.ได้เผยต่อไปอีกว่าในแผนยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี ธนาคารกลางทำได้แล้ว 65% ประกอบด้วย
          

(1) ระบบการชำระเงิน ซึ่งทำได้เร็วกว่าแผน ทั้งการลดค่าธรรมเนียม การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ของภาคประชาชนแต่ในส่วนของภาคธุรกิจยังเดินค่อนข้างช้ากว่าแผน
          

(2) ด้านฐานข้อมูล (Data Analytic)ทำได้ดีและเร็วกว่าที่คาดไว้ ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดออกมาตรการ เช่น เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือมาตรการควบคุมอสังหาริมทรัพย์
          

(3) เสถียรภาพระบบการเงิน ความเชื่อมโยงทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม
          

(4) ที่ยังไม่ได้ผลและต้องเร่งมือ คือ การเข้าถึงบริการทางการเงินของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
          

เรื่องของการอนุญาตให้นำ Information Base Lending มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อได้ โดยเฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กๆ หรือ SSME ที่เริ่มนำมาใช้มากขึ้น
          

เรื่องสุดท้ายที่สำคัญมากๆ ก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังเป็นความเสี่ยงของระบบ เพราะมีเงินฝากราว 15-20% ของทั้งระบบ ขณะนี้กฎหมายการส่งเสริมและการกำกับดูแลได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว
          

ผู้เขียนขอเป็นแรงใจและขอให้กำลังใจทุกท่านที่กำหนดนโยบายสำหรับความท้าทายในปี 2562  แน่นอนว่า…มันคงไม่ง่าย แต่เชื่อได้ว่ามันจะถูกจัดการได้อย่างเหมาะสมบนความรู้ ความสามารถ และความมุ่งหมายที่จะให้ประเทศของเรา เศรษฐกิจเรามั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนะครับ