คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ “วัฒนธรรมการไม่เคารพข้อตกลง เราจะเจอกับอะไร” วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2561

คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่ายๆ

วัฒนธรรมการไม่เคารพข้อตกลง เราจะเจอกับอะไร

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2561

จากปรากฏการณ์ที่ความจริงได้ปะทุขึ้นมาในเรื่องของผู้ที่เป็นลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ไม่ยอมไปชำระหนี้ ไม่ยอมรับว่าเป็นหนี้ ไม่สนใจที่จะไปชำระหนี้ คิดว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทำเป็นเพียงคำขู่ ไม่มีทางทำได้จริง ฟ้องก็ฟ้องไป ยังไงก็ตามเอาเงินคืนไม่ได้ ปล่อยให้คนค้ำประกันรับผิดชอบไปสิ มันไม่ใช่เรื่องของผม เรื่องของดิฉัน ก็อยากค้ำประกันเองทำไม

ความเป็นจริงในเรื่องนี้มันได้สะท้อนเรื่องในระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ได้เป็นอย่างดี ผมขอเสนอประเด็นให้ถกเถียงกันดังนี้

1.คนที่ผ่านระบบการศึกษาของเราส่วนหนึ่ง มีวัฒนธรรมของการ ไม่เคารพกฎ กติกา มรรยาทขั้นพื้นฐานในเรื่องการชำระหนี้ใช่หรือไม่เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา สถาบันการศึกษาได้บ่มเพาะอะไรให้พวกเขาเหล่านั้นจึงได้เกิดความคิดแบบนี้ เขาเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตใช่หรือไม่ บัณฑิตน่าจะหมายถึง ผู้รู้ รู้เรื่องผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรที่ต้องไม่ทำใช่หรือไม่

2.ขี้โม้ น่าจะหมายถึง การชอบโชว์ชีวิต ความเป็นอยู่ ความเป็นไปในโลกเสมือนจริงที่ตรวจสอบไม่ได้ง่าย ก่อให้เกิดความปีติ อิ่มเอมในสิ่งที่ได้สื่อออกไป จนนานวันได้เกิดอคติกับตนเองว่า ถ้าใครบังอาจมารู้ความจริงแล้ว เราจะป้องกัน แก้ตัวอย่างไรดี เราจะปกป้องสิ่งที่โกหกเอาไว้ว่ามันเป็นเรื่องจริงได้อย่างไร ขี้โม้นี้เป็นประเด็นในความหมายแคบนะครับ ทีนี้พอเอาข้อมูลการเป็นคนไม่จ่ายหนี้มาผนวกกับข้อมูลเป็นคนชอบเล่า ชอบโม้ถึงตัวเองบนโลกออนไลน์ มันก็เจอการตามไล่ล่าสิครับ

3.วันนี้เรามีศาลยูทูบ ศาลเฟซบุ๊ก เรามีผู้คนทำหน้าที่พนักงานสอบสวน ติดตามหาความจริงอย่างเข้มข้น มีประสิทธิภาพสูงมากๆ ประมาณว่าถ้าถูกท้ามา…ก็จะจัดให้ ทั้งๆ ที่ กยศ.เองในฐานะผู้เสียหายควรหาทางเปิดเผยรายชื่อลูกหนี้ที่หนีหน้า หนีหนี้ เพื่อบี้ให้สุดทาง ก่อนที่จะมาบี้เอากับผู้ค้ำประกัน แต่ด้วยความที่เรื่องมันแดงออกมาแบบภูเขาน้ำแข็ง ส่วนยอดมันปริ เรื่องมันจึงปะทุออกมา ขณะเดียวกัน “…โลกโซเชียลเองต้องการที่จะบี้ให้ตาย คั้นให้อยู่หมัด เค้นออกมาจนสุดซอย และอย่าให้ได้พลาดจนเป็นเรื่องดังขึ้นมาเป็นอันขาด เพราะผู้คนในโลกโซเชียลจะขุดลึกถึงกระดูก และต่อให้หาเงินมารีบปิดสัญญา ตัวลูกหนี้ที่ก่อเรื่องก็ต้องหาอีกว่ามันเกิดได้อย่างไร ค้างตั้งแต่เมื่อไร อะไร ยังไง เรื่องมันไม่จบง่ายๆ…”

4.กยศ.เป็นกองทุนที่เกิดจากภาษีของผู้คนในประเทศ เอาเงินมาให้คนที่อยากเรียน มีศักยภาพแต่ยากจน เมื่อได้เงินไปเรียนจนจบเป็นผู้เป็นคน เป็นบัณฑิตแล้ว ต้องมีสำนึก

สำนึกในความเป็นคน สำนึกในความเป็นบัณฑิต สำนึกในความเป็นผู้มีการศึกษา สำนึกในความเป็นศิษย์ที่อาจารย์เมตตาค้ำประกันให้ ท่านเป็นหนี้เงิน หนี้บุญคุณคน ท่านมีสัญญาที่ต้องทำตามสัญญา และท่านมีหนี้ที่ต้องใช้คืน เพราะเงินนี้จะหมุนเวียนกลับไปยังน้องๆ คนไทยที่รอได้รับโอกาสเช่นท่านเมื่อครั้งในอดีต กยศ.อยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้เงินชำระคืนกลับมา และหลวงท่านไม่ควรเติมเงินอีกแล้ว เพราะมันคือวินัยทางการเงินการคลัง

ผมขอเรียกร้องในฐานะผู้เสียภาษี ให้เปิดเผยรายชื่อลูกหนี้ที่ค้างชำระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้ำประกัน และน้องๆ ที่ยากจนรุ่นต่อๆ มา

เพราะจะได้ปิดประเด็นว่า ผมหรือดิฉันไม่รู้ ไม่มีการทวงถาม ไม่มีใบแจ้งหนี้ อีกต่อไป เปิดเลยครับ เงินภาษีจะได้คืนกลับมาหมุนเวียน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกแล้ว เลิกอ้างกันได้แล้ว เพราะแม้แต่ท่านจะกินอะไร เอารถรุ่นอะไรไปล้างที่ไหน เล่นฟุตบอลสนามไหน ท่านยังเอามาเปิด (แบบชีวิตดี๊ดี) ในเฟซบุ๊กให้คนที่ไม่ได้มีหน้าที่ตามหนี้เขาตามไปจัดการแทนเจ้าหนี้ เพราะเมื่อเราเลือกวัฒนธรรมของการไม่เคารพข้อตกลง เราต้องพร้อมนะครับว่าจะเจอกับอะไร… ขอบคุณครับ