เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ชนะการรบในด้านสุขภาพกับ​ COVID​-19 ตอนนี้ได้เวลาแตกหักสงครามที่เรื่องรักษาการจ้างงาน : วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2563

ชนะการรบในด้านสุขภาพกับ​ COVID​-19 ตอนนี้ได้เวลาแตกหักสงครามที่เรื่องรักษาการจ้างงาน

เป็นไปอย่างที่พูดคุยกันมาตลอดในทุกวงการว่า​ จากช่วงแรกในการต่อสู้กับไวรัสโควิด 19 ระบาดคือ​ กลัวตายมาก่อนกลัวอด​ แต่เมื่อการ์ดไม่ตก​ ผ่านการชนะการรบด้านสาธารณสุข​มาแล้ว​ สนามรบหลักต่อไปที่ต้องชนะสงครามคือ​ การรักษาการจ้างงานไว้ให้ได้​ ปัจจัยหลักที่จะรักษาฐานที่มั่นนี้ได้คือระบบเศรษฐกิจ​ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า​ แต่ด้วยโครงสร้างที่หัวรถลากระบบเศรษฐกิจ​ของเราคือ​ การส่งออกและการท่องเที่ยว​ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยว​อยู่ในภาวะสลบ​ ขณะที่การส่งออกก็ต้องลดลงเพราะเหตุคนมันมีปัญหากันทั้งโลก​ คนซื้อของมันไม่อยู่​ในฐานะที่จะซื้อมาก​ ซื้อถี่​ ซื้อทุกอย่างได้เหมือนเมื่อก่อน​

ข้างฝั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้รายงานสถานการณ์การว่างงาน ผู้ว่างงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 อยู่ที่ 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราการว่างงานในช่วงปกติ และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งก็มาจากปัจจัยที่เกิดจากสถานที่ทำงานเลิก หยุด ปิดกิจการหรือหมดสัญญาจ้าง เพราะเหตุว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
ที่น่าสนใจมากๆคือสถานประกอบการที่ขอใช้กฎหมายคือกลุ่มที่ขอหยุดชั่วคราว แต่ยังต้องรับภาระในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างอยู่ 7.9 แสนราย และผู้จบการศึกษาใหม่ในปี 2563 ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคน มีแนวโน้มจะหางานทำได้ยากขึ้น หรืออาจต้องใช้ระยะเวลาในการหางานนานกว่าปกติเพราะอย่างนี้ทำให้คาดหมายกันในระยะต่อไปว่าจากยอดผู้ว่างงานมันจะไม่หยุดที่​ 7.5 แสนคนแต่จะเลย​ 1 ล้านคนไปหา​ 2 ล้านคน​ ซึ่งจะส่งผลรุนแรงมาก

อีกเรื่องที่จะทับถมปัญหาคนว่างงานและขาดรายได้แบบเฉียบพลันหรือ​ Income shock คือหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้พักการชำระหนี้​ ชะลอการชำระหนี้​ การเลื่อน/ปรับตารางการชำระหนี้ที่ทำกันในปริมาณถึง​เกือบ​ 13 ล้านบัญชีสินเชื่อ​ มูลหนี้เกือบ​ 7 ล้านล้านบาท​ ได้สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2563 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบแบบว่าไม่มีงานทำ​ ไม่มีรายได้​ จะประคองตัวเองจากเงินเก็บเงินออมได้นานเท่าใด​ โอกาสจะผิดชำระหนี้ ท้ายที่สุดหนี้เสียก็จะเพิ่ม​ ซึ่งคืออันตรายต่อระบบสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก​ ดังนั้นความคาดหวังที่ว่าเครื่องยนต์​ทางด้านการบริโภคของภาคเอกชนจะวิ่งได้เร็วขึ้น​ แรงขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐ​กิจคงจะหวังแทบไม่ได้​ ภาคการผลิตที่จะผลิตเอามาขายให้ผู้บริโภคก็พลอยต้องหงอยเหงา​ตามไปด้วยในที่สุด​ พิษการว่างงานคือสิ่งที่ร้ายแรงมาก​ แทบทุกประเทศต่างเกรงกลัวปัญหานี้เป็นที่สุด​

ในประเทศเราจะสามารถเอาแหล่งเงินจากภาครัฐที่ดอกเบี้ยถูกมากๆ เช่น​ 0.01% มาส่งต่อให้สถาบันการเงินรัฐและเอกชนเอาไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเก่าที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (แต่อาจมีตำหนิบ้าง) ในราคาสัก​ 2% แต่จำนวนเงินกู้จะเท่ากับเงินเดือนพนักงานที่กิจการสัญญาว่าจะจ้างต่อไปอีกอย่างน้อย​ 12-24 เดือน​ ไม่มีการดูหลักประกัน​ เลิกพูดเรื่อง​ free cash flow เน้นแต่เพียงว่ากิจการนั้นยังไม่ปิด​ อาจจัดให้มีการค้ำประกันเงินกู้โดยสถาบันการเงินของรัฐในสัดส่วน​ 70% ของวงเงินกู้​ เมื่อกิจการได้เงินกู้ก็จะต้องผ่านเงินกู้นั้นลงไปที่รายจ่ายเงินเดือนพนักงาน/ลูกจ้าง​ เงินที่จ่ายนั้นให้ผ่านระบบ​ pay roll เงินเดือนซึ่งเป็นบริการของธนาคารอยู่แล้ว​ ภาษาชาวบ้านคือเจ้าของกิจการได้ตัวเลขการเป็นหนี้ไปแต่เงินวนเข้ากระเป๋าเงินของบรรดาพนักงาน/ลูกจ้างโดยตรง​ ทีนี้พอเงินเข้าบัญชี​ของพนักงาน/ลูกจ้าง​ ธนาคารก็หักเงินไว้ไม่เกิน​ 50% ของรายได้ของเดือนของพนักงาน/ลูกจ้างท่านนั้นเพื่อกระจายเงินนั้นไปให้กับเจ้าหนี้สินเชื่อบ้าน​ บัตรเครดิต​ เช่าซื้อรถยนต์​ และสินเชื่อส่วนบุคคล​ เราเรียกตรงนี้ว่า​ หักหน้าซองเงินเดือน​ 50% เข้าซองเงินเดือนไปส่วนที่เหลือ​ อย่างน้อยพนักงาน/ลูกจ้างที่มีเงินไปจ่ายหนี้ได้ก็น่าจะยังถือว่าเขาเป็นลูกหนี้ที่รักษาคำพูดในการจ่ายหนี้

กลับมาที่ลูกหนี้กิจการที่เป็นนายจ้าง​ กิจการก็ต้องมีการผลิตหนือให้บริการ​ ทีนี้ก็ตีค่าสินค้าหรือบริการนั้นๆเป็นตัวเงิน​ แล้วเอาสินค้าและบริการเหล่านั้นมาจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน​เช่น​ เบเกอรี่กล่องนี้​ เมนูนี้เท่ากับ​ 1,000 บาท​ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เมื่อรับของที่แลกกับการจ่ายดอกเบี้ยมาก็ให้นำเอาสินค้า/บริการเหล่านั้นมาขายใน​ Online platform ที่ตนเองสร้างเพื่อเชื่อมประสานไปยังลูกค้าตนเองอีกกลุ่มที่มีเงิน​ ได้รับผลกระทบน้อย​ เขาเหล่านั้นจะได้บริโภคหรือชอปปิงสินค้า/บริการที่ถูกนำไปขัดดอกขาย​ ไม่มีอะไรต้องน่าอาย​ในฝั่งลูกหนี้ เพราะเมื่อเราจะไม่รอด​ กำลังจะหมดหวัง​ แต่ของๆ เราที่ผลิตหรือบริการ​ มีค่าเอาไปแลกกับดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ได้​ ทำไมจะไม่ทำ​ คนมีเงินที่มาซื้อของๆ เราก็จะรู้จักเรามากขึ้น​

สรุปแล้วในศึกตัดสินครั้งนี้​ ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งให้มีมาตรการรักษาการจ้างงานเป็นเรื่องสำคัญสุด เพื่อให้ครัวเรือนสามารถเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน และในท้ายที่สุดผลกระทบที่อาจจะมีต่อระบบการเงินของประเทศจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา​ หรือเราทุกคนจะสามารถหักดิบเอาชนะสงครามนี้เสียเลย..

ขอบคุณที่ติดตามครับ